การจัดฟันเป็น “การรักษา” ทางทันตกรรม เพื่อแก้ไขการสบฟันที่ผิดปกติ ให้ฟันบน/ฟันล่าง สามารถสบกันได้ถูกต้อง ใช้งานบดเคี้ยวได้ดี ทำความสะอาดง่าย เป็นระเบียบสวยงาม และจัดสภาพให้ฟันและเนื้อเยื่อของช่องปาก อยู่ในสภาพทีสมดุล
การจัดฟันแก้อะไรได้บ้าง การจัดฟันสามารถแก้ไขสิ่งเหล่านี้ได้
- ฟันบนยื่น, ฟันล่างยื่นครอบ/คร่อมฟันบน
- ฟันซ้อนเก ฟันบิดเอียง ฟันหมุน ฯลฯ
- ฟันขึ้นไม่ได้ตามปกติ
- ฟันล้มเนื่องจากถูกถอนฟันไปแล้วไม่ได้ใส่ฟันปลอม ทำให้ไม่สามารถทำฟันปลอมได้ดี
ถ้าไม่จัดฟันจะมีปัญหาอะไร
- ปัญหาเกี่ยวกับความสวยงาม และบุคลิกภาพ
- ฟันซ้อนเกมากๆทำให้ทำความสะอาดลำบาก จะเกิดปัญหาฟันผุและโรคเหงือกได้
- การที่ฟันบนฟันล่างสบกันไม่พอดี มีตำแหน่งที่เคี้ยวสะดุด และการที่ขากรรไกรบน/ล่าง มีขนาดที่ไม่สมดุลกัน อาจทำให้การบดเคี้ยวมีปัญหา และในระยะยาว อาจมีการบาดเจ็บของข้อต่อขากรรไกรได้
อายุเท่าไรจึงสมควรที่จะจัดฟัน : ขึ้นอยู่กับสิ่งที่ต้องการแก้ไข
หากการสบฟันผิดปกติเนื่องจากขากรรไกรบน/ล่าง เจริญเติบโตไม่สมดุลกัน ก็ควรจะจัดในระยะที่ผู้ป่วยยังมีการเจริญเติบโตอยู่ เพื่อกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกร ไปในทิศทางที่ถูกต้อง หรือ กรณีที่ฟันล่างครอบฟันบนเพียงบางซี่ก็ควรจะแก้ไขทันที เฉพาะปัญหานั้นๆก่อน เพื่อไม่ให้มีการขัดขวาง การเจริญเติบโตของขากรรไกร ส่วนใดส่วนหนึ่ง ส่วนปัญหาอื่นๆที่จะต้องแก้ใขต่อไป อาจไปทำในช่วงที่ผู้ป่วยมีฟันแท้ขึ้นครบแล้ว (ประมาณอายุ 11-12 ปีขึ้นไป) สรุปคือ การแก้ปัญหาแบบนี้ จะทำตั้งแต่ผู้ป่วยอายุน้อย (อาจทำทันทีที่พบปัญหา) และส่วนใหญ่ จะใช้เครื่องมือจัดฟันชนิดถอดได้
หากการสบฟันผิดปกติ ไม่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต และพิจารณาแล้วว่าต้องจัดด้วยเครื่องมือจัดฟันชนิดติดแน่น ควรจะทำในช่วงที่ฟันแท้ขึ้นเกือบครบแล้ว (ประมาณอายุ 11-12 ปีขึ้นไป) เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยต้องติดเครื่องมืออยู่นานเกินจำเป็น เพราะอาจมีปัญหาฟันผุ และเหงือกอักเสบได้ และรอให้ผู้ป่วยโตพอที่จะให้ความร่วมมือต่างๆ ได้ดีพอสมควร ลักษณะการสบฟันผิดปกติที่ควรจัดในช่วงนี้ได้แก้ ฟันซ้อนเก บิดเอียง ฟันบนยื่น (ชนิดที่ไม่ต้องผ่าตัด) ฯลฯ
การสบฟันผิดปกติเนื่องจากขากรรไกรบน/ล่าง เจริญเติบโตไม่ได้สัดส่วนกันมาก จนต้องแก้ไขด้วยการผ่าตัด การจัดฟันแบบนี้ควรเริ่มทำเมื่อผู้ป่วยมีการเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว (หยุดโตแล้ว) เพื่อให้ได้ผลการรักษาภายหลังการผ่าตัดคงที่ หรือมีการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด ลักษณะการสบฟันผิดปกติแบบนี้ ได้แก่
- ฟันล่างยื่นครอบฟันบนมาก (อาจเนื่องจากขากรรไกรล่างโตผิดปกติ หรือขากรรไกรบนเล็กผิดปกติ หรือร่วมกันทั้งขากรรไกรล่างโต และขากรรไกรบนเล็ก)
- ขากรรไกรบนยื่น/ใหญ่มาก (ฐานกระดูกยื่นไม่ใช่เฉพาะฟันยื่น) ขากรรไกรล่างเล็กมาก หรืออยู่ในตำแหน่งถอยไปด้านหลัง หรือผิดปกติทั้งขากรรไกรไกรบนใหญ่ และขากรรไกรล่างเล็ก
- ระนาบของการสบฟันเอียง หรือขากรรไกรเบี้ยว หรือเฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง
- มีฟันบนและฐานขากรรไกรบนยื่นมากจนยิ้มเห็นเหงือกมาก
ข้อปฏิบัติระหว่างใส่เครื่องมือจัดฟัน
ก่อนเริ่มจัดฟัน ทันตแพทย์จะดูแลรักษาฟันที่ผุ และขูดหินปูน รักษาโรคเหงือก เพื่อเตรียมสภาพในช่องปาก ให้สะอาดแข็งแรง เมื่อเริ่มติดเครื่องมือจัดฟันแล้ว จะต้องเอาใจใส่ในการทำความสะอาดมากเป็นพิเศษ เพราะเศษอาหารต่างๆ มักติดค้างตามซอกฟัน และเครื่องมือจัดฟันได้ง่าย นอกเหนือจาก การใช้แปรงสีฟันตามปกติแล้ว อาจใช้แปรงซอกฟัน หรือใหมขัดฟัน ในการทำความสะอาดด้วย การดูแลรักษาความสะอาดที่ดี จะช่วยให้ได้ผลการรักษาตามที่ต้องการภายในระยะเวลาที่เหมาะสม
การรับประทานอาหาร ควรหลีกเลี่ยงอาหารแข็ง อาหารเหนียว และอาหารก้อนโต เพราะจะทำให้เครื่องมือหลุด หัก หรือลวดหักงอได้
บางกรณีทันตแพทย์อาจมีอุปกรณ์ให้ผู้ป่วยใส่เองขณะอยู่บ้าน เช่น อุปกรณ์ช่วยดึงฟันกราม ยางดึงฟัน ฯลฯ ผู้ป่วยต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อให้สามารถเคลื่อนฟันไปในทิศทางที่ต้องการ
ควรไปพบทันตแพทย์ตามกำหนดเวลานัดหมาย การปล่อยปละละเลย หรือขาดการรักษานานๆ จะทำให้แผนการรักษาเสียไป การรักษายุ่งยากขึ้น และจะมีฟันผุ/เหงือกอักเสบได้
หมอบอกว่าจัดฟันเสร็จแล้ว ทำไมต้องใส่เครื่องมือถอดได้อีก
เครื่องมือที่ทันตแพทย์ใส่ให้ผู้ป่วย หลังจากถอดเครื่องมือจัดฟันที่ติดอยู่แล้วนั้น คือเครื่องมือช่วยคงสภาพฟัน ซึ่งผู้ป่วยหลังจัดฟันต้องใส่ทุกคน เพื่อป้องกันมิให้ฟันที่จัดไว้แล้วนั้นเคลื่อนไป เพราะโดยธรรมชาติแล้ว ฟันมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนกลับไปในตำแหน่งที่บิดเกเหมือนก่อนจัดฟัน จึงมีความจำเป็นที่ต้องใส่เครื่องมีควบคุม ดังนั้นความร่วมมือของผู้ป่วย ในการใส่เครื่องมือนี้ และไปพบทันตแพทย์ตามนัดหมายอย่างต่อเนื่อง จึงมีความสำคัญยิ่ง ที่จะทำให้ผลการรักษาประสบความสำเร็จ คงสภาพฟันที่จัดไว้ดีแล้วให้เป็นระเบียบสวยงามต่อไป