ฟันเกิน (supernumerary teeth) คือ ฟันที่ร่างกายสร้างขึ้นมากกว่าจำนวนปกติ มักพบในฟันแท้มากกว่าฟันน้ำนม และในเพศชายมากกว่าเพศหญิง ฟันเกินเกิดขึ้นตำแหน่งใดก็ได้ในช่องปาก โดยอาจไม่มีอาการแสดงใดๆ หรืออาจทำให้เกิดปัญหา ดังนี้
- เป็นฟันฝังอยู่ในกระดูกเนื่องจากงอกขึ้นมาไม่ได้
- ขึ้นเบียดฟันซี่ข้างเคียงทำให้ตำแหน่งการขึ้นของฟันข้างเคียงผิดปกติ
- มีโอกาสเกิดถุงน้ำ (cysts)
ควรผ่าตัดหรือถอนฟันเกินออกเมื่อคนไข้อยู่ในช่วงวัยที่เหมาะสม บางกรณี เช่น ฟันเกินที่ขึ้นแทรกระหว่างฟันหน้าบน ซึ่งถ้าถอนออกจะทำให้ฟันหน้าห่าง ควรวางแผนการรักษาร่วมกับทันตแพทย์จัดฟัน เพื่อเคลื่อนฟันปิดช่องว่างที่จะเกิดขึ้น
ภาพ : ฟันเกินที่ขึ้นแทรกระหว่างฟันหน้าบน
ที่มาของภาพ : คณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ฟันเกิน ปล่อยไว้เป็นอันตรายไหม?
ฟันเกินที่ขึ้นมาในช่องปาก อาจจะขึ้นเบียดฟันแท้ให้อยู่ผิดตำแหน่ง หรือเบียดซ้อนกับฟันแท้ ทำให้ทำความสะอาดยาก บางครั้งก็พบว่าฟันเกินขึ้นอยู่ตำแหน่งท้ายสุด ซึ่งไม่ทำให้เกิดปัญหากับฟันซี่ใด แต่ก็เป็นตำแหน่งที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในการบดเคี้ยว ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ถอนฟันเกินออก
กรณีฟันเกินที่ไม่โผล่ขึ้นมาในช่องปาก อาจจะอยู่ในตำแหน่งที่เบียดรากฟันแท้ให้เกิดการละลายตัว หรือฟันแท้ขึ้นผิดปกติได้ นอกจากนี้ บางครั้งฟันเกินที่ฝังอยู่อาจพัฒนาไปเป็นถุงน้ำในกระดูกขากรรไกรได้
ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ผ่าตัดฟันเกินที่ฝังในกระดูกเช่นนี้ออก เว้นแต่ว่าตำแหน่งของฟันเกินนั้นอยู่ลึกมาก และอยู่ห่าง ไม่มีผลเสียต่อรากฟัน รวมทั้งไม่มีลักษณะของถุงน้ำ (cysts) ก็อาจจะใช้วิธี x-ray ตรวจติดตามเป็นครั้งคราว
มีฟันเกินขึ้นตรงกลางเพดานปาก และอีกซี่ฝังอยู่ที่คาง
อายุ 14 ปีค่ะ ได้ไป x-ray พบว่ามีฟันเกินขึ้นตรงกลางเพดานเป็นแนวนอนเลยค่ะ และอีกซี่อยู่ด้านล่างลึกมากเกือบถึงคาง คุณหมอบอกว่าจะผ่าฟันบนตรงกลางเพดานออก และจะจัดฟันดึงฟันฝังใต้เหงือกด้านล่างขึ้นมา อย่างนี้จะเจ็บมากไหมคะ?
การผ่าตัดฟันฝังที่อยู่กลางเพดาน และการผ่าตัดเพื่อติดเครื่องมือจัดฟันที่ฟันล่างที่ฝังอยู่นั้น ควรทำโดยทันตแพทย์เฉพาะทางที่มีความชำนาญ อาจจะมีการปวดบวมหลังผ่าตัดบ้างเป็นเรื่องปกติ และโอกาสมีปัญหาแทรกซ้อนได้ เช่นเดียวกับการผ่าตัดฟันคุด ถ้าไม่มีโรคประจำตัวที่ร้ายแรง ก็จะไม่มีอันตรายค่ะ
ในระหว่างที่จัดฟันเพื่อดึงฟันฝังขึ้นมาก็จะรู้สึกเหมือนการจัดฟันตามปกติ โดยทันตแพทย์จัดฟันจะมีการเคลื่อนฟันแต่ละซี่เพื่อแก้ไขฟันยื่นหรือซ้อนเกไปพร้อมๆกับการเตรียมช่องว่างสำหรับฟันฝังที่จะดึงขึ้นมา
ในการดึงฟันฝังนั้นจะมีลักษณะเป็นการเคลื่อนฟันแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้เนื้อเยื่อต่างๆในช่องปากปรับตัวไปตามการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งฟัน คนไข้จะรู้สึกตึงๆฟันซี่นั้น เช่นเดียวกับการจัดฟันทั่วๆไปค่ะ