ทันตแพทย์สำหรับเด็กหรือที่เรียกว่าหมอฟันเด็ก คือทันตแพทย์ที่เรียนต่อระดับหลังปริญญาในสาขาทันตกรรมสำหรับเด็ก ได้รับการฝึกฝนมาเป็นพิเศษในการรักษาทันตกรรมสำหรับเด็กที่ไม่ให้ความร่วมมือ เด็กที่มีปัญหาทางด้านพัฒนาการ รวมถึงเด็กที่มีโรคทางระบบต่างๆที่ซับซ้อน
หมอฟันเด็ก จึงเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจด้านทันตกรรมสำหรับเด็ก และมีจิตวิทยาในการเข้าถึงเด็กๆ แต่ละวัย ได้อย่างนุ่มนวลและเหมาะสม
สร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกในการพบหมอฟันเด็กครั้งแรกกันเถอะ!
ลูกๆจะมีประสบการณ์ที่ดีในการไปพบทันตแพทย์ได้ คุณพ่อคุณแม่ควรเริ่มจากการพาลูกไปหาหมอฟันเด็กตั้งแต่ยังไม่มีปัญหาในช่องปาก โดยเริ่มตั้งแต่อายุ 6 เดือน ถึง 1 ขวบ หรือเมื่อลูกมีฟันขึ้นซี่แรก ซึ่งการพบหมอฟันในช่วงนี้ จะมุ่งเน้นไปที่การป้องกันก่อนที่ฟันจะเป็นปัญหา ทำให้เกิดทัศนคติที่ดีกับการพบทันตแพทย์ครั้งแรก
“การพาลูกไปพบหมอฟันในช่วงที่มีฟันน้ำนมขึ้นแล้ว โดยที่ยังไม่มีปัญหาใดๆ จะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับการเรียนรู้ คือ ทันตแพทย์จะเริ่มทำงานง่ายๆโดยการตรวจช่องปาก สอนแปรงฟัน ขัดฟัน เคลือบฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นงานทันตกรรมป้องกันที่สามารถทำเสร็จได้อย่างรวดเร็ว เด็กๆจะมีประสบการณ์ที่ดีและไม่กลัวการทำฟันในอนาคต”
เมื่อเด็กๆได้เรียนรู้ไปทีละเล็กละน้อย ว่าการไปหาทันตแพทย์เป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัว แต่มีความสนุกสนาน ทำให้อยากไปพบทันตแพทย์ได้ในคราวต่อๆไป หรือถ้ามีญาติพี่น้องที่เป็นเด็กที่ให้ความร่วมมือดีในเวลาทำฟัน ก็อาจจะพาไปด้วยก็ได้ เพื่อให้ดูตัวอย่างพี่ๆ หรือคนอื่นๆ ที่มาทำฟันว่าสนุกสนานอย่างไร และแต่ละคนให้ความร่วมมือดีอย่างไร ก็จะเป็นการเรียนรู้ที่ดีสำหรับเด็กอีกทางหนึ่ง
รวมถึงการที่ก่อนพาลูกๆไปพบหมอฟันเด็ก คุณพ่อคุณแม่ใช้หนังสือนิทานที่มีเรื่องราวของเด็กที่ไปตรวจฟันมาเล่าให้ฟัง ก็เป็นการช่วยเตรียมลูกๆ ที่ดีเช่นกัน
เมื่อลูกปวดฟัน หมอฟันเด็กแนะนำอย่างไร?
ในกรณีเด็กต้องไปหาหมอฟันเมื่อปวดฟันแล้ว คุณพ่อคุณแม่อาจจะช่วยได้บ้าง คือ บอกว่าไปหาหมอฟันแล้วจะหายปวด แต่ไม่ต้องลงรายละเอียดว่าเดี๋ยวหมอจะฉีดยา หรือทำอะไรให้ เพียงบอกให้เด็กรู้ว่าหมอฟันจะเป็นผู้ที่ทำให้หายปวดฟัน ฟันจะสวย แข็งแรง
ทั้งนี้ การมีข้อต่อรองกับลูกว่าเดี๋ยวพาไปพบหมอฟันแล้วจะซื้อไอศกรีมหรือของเล่นให้ หรือหลอกลูกว่าจะพาไปเที่ยวเป็นเรื่องที่ไม่สมควร เพราะจะทำให้เกิดภาพพจน์ว่าทำไมคุณพ่อคุณแม่ถึงต้องทำแบบนั้น มีอะไรที่น่ากลัวหรือไม่ ซึ่งทำให้เด็กยิ่งอาจเกิดความวิตกกังวลได้
ควรพูดกับลูกเพียงว่า “คุณพ่อคุณแม่จะพาไปพบหมอฟัน ให้คุณหมอฟันนับฟัน สอนวิธีทำความสะอาดให้” ก็เพียงพอแล้ว ถ้าบรรยายมากไปเด็กจะเกิดความกลัว โดยเฉพาะเมื่อลูกมีอาการปวด แนะนำว่าควรบอกเพียง “ไปให้คุณหมอตรวจ และช่วยดูว่าเราจะสามารถทำอะไรกับฟันซี่นี้ให้หายปวด กลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม”
ไม่ควรบอกลูกว่าไม่เจ็บ ไม่ต้องกลัว เพราะจะเป็นคำพูดที่ทำให้เด็กรับรู้ได้เลยว่าต้องมีอะไรที่น่ากลัว หรือเจ็บแน่ๆ อาจพูดกับเด็กว่า หมอมีเก้าอี้ที่เลื่อนขึ้นลงได้ เหมือนเครื่องบิน หรือยาวอวกาศ เหมือนตอนไปเที่ยวสวนสนุก เพื่อให้เด็กไม่เกิดความกลัว รวมถึงพูดในแง่บวกว่า พบคุณหมอแล้วฟันจะสะอาด ดูสวย ดูหล่อ หายปวดฟัน เป็นต้น
“สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ในขณะพูดเรื่องการมาพบหมอฟัน คุณพ่อคุณแม่ควรมีท่าทีสบายๆ ไม่แสดงอาการกังวลใจ รวมถึงเปิดโอกาสให้ลูกนำตุ๊กตาหรือของรักมาเป็นเพื่อน ตอนให้คุณหมอตรวจฟันได้ด้วย”
คุณพ่อคุณแม่จำเป็นที่จะต้องเข้าไปในห้องกับลูกด้วยหรือไม่
สำหรับหมอฟันเด็ก การที่คุณพ่อคุณแม่เข้ามาในห้องทำฟันพร้อมกับลูกเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหมอจำเป็นต้องซักประวัติ และสอบถามข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพเด็ก รวมถึงอาการสำคัญ เพื่อวางแผนการรักษา และตัดสินใจร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ถึงทางเลือกการรักษา
โดยหมอจะอธิบายขั้นตอนการรักษา รวมถึงวิธีการที่อาจต้องใช้ในการปรับพฤติกรรมเด็ก เมื่อมีความจำเป็น ให้คุณพ่อคุณแม่ได้รับทราบด้วย
การเข้ามาในห้องทำฟันพร้อมกับลูกนั้น มีข้อดีคือ
- คุณพ่อคุณแม่จะมีส่วนร่วม : จะมีส่วนร่วมในการตรวจ และตัดสินใจในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก
- คุณพ่อคุณแม่จะเป็นผู้ช่วยที่สำคัญของหมอฟัน : ในกรณีที่เด็กยังมีความกังวล เพราะการที่เด็กทราบว่า คุณพ่อคุณแม่ยังอยู่ในห้องทำฟัน ยังคอยให้กำลังใจอยู่ใกล้ๆ เป็นการช่วยลดความกังวลของเด็ก และทำให้เด็กมีประสบการณ์ที่ดีกับการทำฟัน
- ในกรณีที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแผนการรักษา : ทันตแพทย์ก็จะสามารถแจ้งคุณพ่อคุณแม่ให้ทราบได้ทันที
บางครั้งคุณหมอก็อาจต้องขอความร่วมมือให้นั่งรอด้านนอกในขณะทำการรักษา
- เนื่องจากคุณหมอต้องการให้เด็กสนใจในสิ่งที่หมอกำลังสื่อสาร รวมถึงความร่วมมือของเด็กในระหว่างทำฟัน
- เพื่อหลีกเลี่ยงพฤติกรรมด้านลบของเด็กบางอย่างที่ไม่เหมาะสม
- เป็นการเสริมสร้างให้เด็กทราบถึงบทบาทระหว่าง “หมอฟัน” กับ “ตัวเด็ก” เพื่อเป็นการเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างเหมาะสม
โดยปกติ เด็กวัยตั้งแต่ 6-8 เดือน จนถึงวัยก่อนเข้าเรียน มักมีความวิตกกังวลค่อนข้างมากต่อการแยกจากผู้ปกครอง ซึ่งอาการกังวลนี้ควรลดลง เมื่อเด็กอายุประมาณ 3 ปี หรือหลังจากเข้าโรงเรียน และเริ่มเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และอาการกังวลควรหายไป เมื่ออายุ 5 ปี
ดังนั้น ในวัยนี้หมอฟันเด็กมักอยากให้คุณพ่อคุณแม่อยู่ในห้องทำฟันกับลูก เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูก ว่าคุณพ่อคุณแม่จะอยู่ข้างๆลูกเสมอ
นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่จะได้มีโอกาสพูดคุยกับหมอฟัน รวมทั้งได้เห็นพัฒนาการของลูกขณะทำฟันด้วย แต่ทั้งนี้การเข้ามาในห้องทำฟันกับลูกจะขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามสถานการณ์ ซึ่งหมอจะอธิบายให้คุณพ่อคุณแม่ทราบก่อนเสมอ
ลูกร้องไห้ระหว่างทำฟัน ควรจะทำอย่างไร
โดยทั่วไปแล้วการร้องไห้ของลูกมีสาเหตุ 4 อย่าง คือ
- ร้องไห้เพราะถูกขัดใจ : เนื่องจากเด็กไม่อยากมานั่งเฉยๆนานๆ เมื่อเริ่มเบื่อ ก็จะร้องเพราะถูกขัดใจ
- ร้องไห้เพราะตกใจกลัว : มักจะเป็นเด็กเล็กอายุประมาณ 2 ขวบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในบางครั้ง แม้ว่าทันตแพทย์จะพยายามสร้างสัมพันธ์กับเด็กแล้วจึงจะทำงานก็ตาม
- ร้องไห้เพราะร้องไปอย่างนั้นเอง : เหมือนกับเป็นลูกคู่กับเสียงเครื่องกรอฟัน หรืออาจร้องไห้เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้องนอน จึงทำให้เด็กงอแง
- ร้องไห้เพราะเจ็บ
ซึ่งในการทำฟันเด็ก หมอฟันเด็กจะต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก โดยจะใช้ยาชาซึ่งจะเรียกว่า “ยาทำให้ฟันนอนหลับ” เพื่อที่จะไม่ทำให้เด็กนั้นมีความรู้สึกเจ็บเกิดขึ้นเลย
โดยคุณหมอจะต้องแน่ใจก่อนว่ามีอาการชาแล้ว จึงเริ่มอุดฟัน ถอนฟัน หรือรักษารากฟันให้ เพราะฉะนั้นหากเด็กร้องไห้ มักจะเป็นการร้องด้วยสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวมาใน 3 ข้อข้างต้น ที่ไม่ใช่การร้องไห้เพราะเจ็บ คุณพ่อคุณแม่จึงไม่ควรต้องวิตกกังวลมากนัก หมอฟันเด็กจะมีวิธีรับมือได้อย่างนุ่มนวลและเหมาะสม
ลูกเป็นคนที่กลัวหมอมาก ทำยังไงดี?
เด็กซึ่งเคยมีประสบการณ์ไม่ดีในการไปพบแพทย์เด็กมาก่อน เช่น เจ็บป่วยบ่อยแล้วโดนฉีดยาบ่อย เมื่อไปพบทันตแพทย์ก็จะเกิดความกลัวเหมือนกัน เพราะทันตแพทย์ก็จะใส่ผ้าปิดปากคล้ายแพทย์และมีเสื้อคลุมสีขาวคล้าย ๆ กัน แล้วเขาก็จะจำเหตุการณ์ที่ไปพบหมอเด็กได้ อย่างไรก็ตาม กรณีเช่นนี้คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องวิตกกังวลมากในการที่จะพาลูกไปพบทันตแพทย์ แต่ก็ไม่ควรคาดหวังสูงว่าเขาจะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
คุณพ่อคุณแม่ควรบอกให้ทันตแพทย์ทราบด้วยว่าเด็กมีประสบการณ์อย่างไรมาก่อน เพื่อจะได้เตรียมการโดยใช้วิธีการจิตวิทยาและปรับวิธีการรักษาให้เข้ากับเด็กแต่ละคน
ควรพาลูกไปพบหมอฟันเด็กปีละกี่ครั้ง
โดยปกติแนะนำให้มาพบทันตแพทย์สำหรับเด็กทุก 6 เดือน เพราะการลุกลามของฟันผุในเด็กจะเร็วมาก โดยเริ่มผุจากผิวเคลือบฟันจนกระทั่งถึงเนื้อฟันจะใช้เวลาเพียง 6 เดือน เนื่องจากการสะสมแคลเซียมในผิวเคลือบฟันของเด็กยังน้อย
หมอฟันเด็กจะประเมินความเสี่ยงของการเกิดฟันผุ ซึ่งหากมีความเสี่ยงสูง จะแนะนำให้พาเด็กกลับมาตรวจเช็คในระยะเวลาที่เร็วขึ้น
การกลับมาตรวจฟันแต่เนิ่นๆ หากพบรอยผุตั้งแต่เริ่มแรก การรักษาจะง่าย ใช้เวลาไม่มาก เด็กจะไม่เจ็บและไม่เสียค่าใช้จ่ายมากนัก ถ้าฟันผุลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟัน หรือเด็กมีอาการปวด ขั้นตอนการรักษาจะยุ่งยากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องความร่วมมือของเด็ก
ในกรณีที่ฟันผุลุกลามจนไม่สามารถรักษาฟันไว้ได้ ต้องถอนออกก่อนเวลาที่ฟันแท้จะขึ้น ก็จะมีปัญหาเรื่องการสบฟันผิดปกติหรือฟันซ้อนเกตามมา ในบางกรณีอาจต้องทำเครื่องมือกันช่องว่างที่ถอนฟันออกไป รอจนกว่าฟันแท้จะขึ้นมาแทนที่
ดังนั้นจะเห็นว่า การพาลูกไปพบหมอฟันเด็กตามกำหนดอย่างสม่ำเสมอ จึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างมาก นอกจากทำให้ลูกมีสุขภาพฟันที่แข็งแรงสมบูรณ์แล้ว ยังเป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการพาลูกไปพบทันตแพทย์เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้วอีกด้วย