ในกรณีที่คนไข้มีหินปูนในระดับลึกใต้เหงือกมาก เมื่อทันตแพทย์ได้ทำการขูดหินปูนที่เคยหุ้มปกคลุมรากฟันอยู่ออกไป รากฟันก็จะสัมผัสกับสิ่งเร้าภายนอกโดยตรงทำให้เกิดอาการเสียวฟันได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา
โดยเฉพาะบริเวณรอยต่อของผิวเคลือบฟันกับผิวรากฟัน เป็นตำแหน่งที่ไวต่อการกระตุ้นให้มีอาการเสียวฟันได้ง่าย ซึ่งในผู้ที่ไม่มีหินปูนสะสม บริเวณนี้จะมีเหงือกปกคลุมอยู่ แต่เมื่อมีหินปูนสะสมมากเป็นเวลานาน ก็จะทำให้เหงือกร่นลงไป
อย่างไรก็ตาม หากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ขูดหินปูนก็จะทำให้ปัญหารุนแรงขึ้นตามลำดับ เพราะหินปูนจะทำให้เกิดการอักเสบจนเหงือกร่นลงไปเรื่อยๆ เมื่อเรื้อรังจะทำให้กระดูกที่หุ้มรอบรากฟันถูกทำลาย ทำให้ฟันโยก เหงือกบวม เรียกว่าเป็น โรคปริทันต์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการสูญเสียฟันได้
อาการเสียวฟันหลังขูดหินปูน โดยปกติจะดีขึ้นได้เอง การใช้ยาสีฟันสำหรับรักษาอาการเสียวฟัน และการอมน้ำยาฟลูออไรด์สามารถช่วยลดอาการลงได้ แต่อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์ กรณีที่ครบเดือนแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อพิจารณาหาสาเหตุและแก้ไข
ยาสีฟันที่โฆษณาว่าลดอาการเสียวฟัน ช่วยได้จริงไหม?
ยาสีฟันประเภทนี้ได้ทำการทดลองในห้องทดลองมาเรียบร้อยแล้วและได้ผลจริง แต่เมื่อมาใช้กับฟันของคนจริงๆ อาจจะมีองค์ประกอบบางอย่างที่ทำให้ผลสำเร็จลดลงไปบ้าง ขึ้นกับสาเหตุของการเสียวฟัน และพยาธิสภาพของฟัน
แต่ตามหลักการแล้วเป็นจริง คือ ต้องการให้เกิดการตกตะกอนบริเวณปากท่อเนื้อฟัน เพื่อบล็อคบริเวณท่อเนื้อฟัน ช่วยให้การเสียวฟันเนื่องจากสิ่งกระตุ้นภายนอกและจุลินทรีย์เกิดขึ้นได้น้อยลง
อาการเสียวฟันเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
1. เสียวฟันเนื่องจากมีหินปูนสะสมจนเป็นโรคปริทันต์
ปัญหาโรคปริทันต์เกิดจากการดูแลรักษาความสะอาดช่องปากและฟันที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้เข้ารับการขูดหินปูนมาอย่างยาวนาน จนเกิดหินปูนสะสมใต้เหงือกจำนวนมาก เชื้อจุลินทรีย์จะทำลายทั้งเนื้อเยื่อของเหงือก และทำให้กระดูกหุ้มรากฟันละลายตัว ทำให้ร่องเหงือกลึกลงไปเรื่อยๆ เหงือกก็จะไม่ยึดแนบกับตัวฟัน
เมื่อเหงือกร่นลงไปมากๆก็จะไวต่อการกระตุ้นของสิ่งภายนอก คนไข้จึงมีอาการเสียวฟันได้ง่าย หากปล่อยทิ้งไว้นาน การอักเสบเรื้อรังและการละลายตัวของกระดูกหุ้มรากฟัน จะทำให้เหงือกบวม เป็นหนอง ฟันโยก มีอาการปวด ความแข็งแรงของเหงือกและฟันจะลดลงเรื่อยๆจนอาจสูญเสียฟันในที่สุด
การตรวจรักษาและเข้ารับการขูดหินปูนจากทันตแพทย์ ตั้งแต่ปัญหายังมีน้อยจะทำให้การรักษาไม่ยากและได้ผลลัพธ์ที่ดี
2. เสียวฟันเนื่องจากฟันผุ
จุลินทรีย์ในช่องปากจะผลิตกรดออกมาทำลายผิวเคลือบฟัน เมื่อเคลือบฟันถูกทำลายไปจนถึงชั้นเนื้อฟัน ท่อเนื้อฟันก็ถูกเปิดสู่สภาพแวดล้อมในช่องปาก เมื่อถูกกระตุ้นจากการดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหาร จึงเกิดการเสียวฟัน การเสียวฟันเนื่องจากฟันผุ รักษาด้วยการอุดฟัน
3. เสียวฟันหลังจากอุดฟัน
อาจเกิดจากรอยผุลึกมาใกล้โพรงประสาทฟัน หรือความไม่สมบูรณ์ของวัสดุอุดบางจุด เช่น วัสดุอุดสูงเกินไป หรือมีช่องว่างระหว่างวัสดุอุดกับเนื้อฟัน
นอกจากนี้ บางกรณีที่รอยผุมีขนาดใหญ่ การหดตัวของวัสดุอุด ก็ทำให้มีอาการเสียวฟันได้ หากเป็นกรณีนี้ อาการเสียวฟันมักจะค่อยๆทุเลาลงภายใน 2-3 สัปดาห์ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรกลับไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจเช็คและแก้ไข
ส่วนการเสียวฟันหลังจากอุดฟันไปนานแล้ว สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากฟันผุเพิ่มหรือวัสดุอุดฟันชํารุด ควรพบทันตแพทย์เพื่ออุดฟันใหม่
4. เสียวฟันจากอาหารเย็นหรือร้อน
เป็นอาการที่พบได้เป็นปกติ แต่หากการเสียวฟันเกิดขึ้นมากกว่าปกติ เมื่อรับประทานอาหารเย็นหรือร้อน ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนถึงปัญหาของเหงือกและฟันอื่นๆได้
5. จากการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เป็นกรด
ผลไม้รสเปรี้ยวจัด น้ำส้มสายชู รวมถึงน้ำอัดลม มีความเป็นกรดสูง ความเป็นกรดนี้จะทำให้ผิวเคลือบนุ่มลง อ่อนไหวต่อการกระตุ้นได้ง่ายขึ้น สึกกร่อนได้ง่ายขึ้น ในผู้ที่รับประทานอาหารดังกล่าวเป็นประจำต่อเนื่องกันเป็นเวลาหลายปี อาจพบว่าผิวเคลือบฟันบางลงได้
ในเบื้องต้นสามารถบรรเทาได้ ด้วยการอมน้ำยาบ้วนปากผสมฟลูออไรด์ แปรงฟันด้วยยาสีฟันที่ใช้ลดอาการเสียวฟัน หรือทาผิวฟันด้วยสารประกอบฟลูออไรด์ที่ช่วยรักษาอาการเสียวฟัน
ทั้งนี้ ไม่ควรแปรงฟันทันทีหลังรับประทานอาหารที่เป็นกรด เนื่องจากผิวเคลือบฟันกำลังอยู่ในช่วงที่อ่อนแอ สึกกร่อนได้ง่าย (เช่น บางท่านรู้สึกเข็ดฟันหลังรับประทานอาหารเปรี้ยวๆ) ควรเว้นช่วงสัก 1 ชั่วโมง เพื่อให้ผิวเคลือบฟันกลับคืนสภาพก่อน
6. เสียวฟันเนื่องจากคอฟันสึก
มักเกิดกับผู้ป่วยที่แปรงฟันผิดวิธีและใช้ขนแปรงแข็ง ทำให้ฟันสึกบริเวณคอฟัน โดยพบว่ามักจะเกิดขึ้นต่อเนื่องกันหลายซี่ หากสึกมากการอุดฟันบริเวณคอฟันก็สามารถกําจัดอาการเสียวฟันได้ แต่หากฟันสึกไม่มากสามารถใช้น้ำยาอมฟลูออไรด์หรือสารลดอาการเสียวฟันทาบริเวณนั้น ร่วมกับปรับพฤติกรรมในการแปรงฟันให้ถูกวิธี
7. สาเหตุจาก ฟันมีรอยร้าว ฟันแตก
ถ้าฟันมีรอยร้าว หรือแตก เข้าไปถึงชั้นเนื้อฟัน อาจเกิดอาการเสียวฟันเมื่อฟันซี่นั้นได้รับแรงขณะเคี้ยวอาหาร หากรอยร้าวต่อเนื่องถึงโพรงประสาทฟัน มักจะมีอาการปวด เนื่องจากเนื้อเยื่อของโพรงประสาทฟันถูกกระตุ้นโดยตรง
ผู้ที่มีอาการควรรับการตรวจรักษาจากทันตแพทย์ เนื่องจากถ้าฟันร้าวในแนวดิ่งลงไปใกล้โพรงประสาทฟัน จะเป็นฟันซี่ที่บูรณะค่อนข้างยาก อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้สูญเสียฟันได้
บางครั้งฟันร้าวไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า และการดูจากฟิล์ม x-ray ในบางมุมก็ยากจะวินิจฉัยได้ชัด ทันตแพทย์อาจใส่เครื่องมือล้อมฟัน (band) มีลักษณะคล้ายแหวนโอบฟันซี่นั้นไว้ เพื่อดูอาการ ถ้าคนไข้มีอาการลดลง ก็จะมีความเป็นไปได้มากที่ปัญหาเกิดจากฟันร้าวที่สังเกตเห็นได้ยาก กรณีเช่นนี้ทันตแพทย์จะแนะนำให้คนไข้เปลี่ยนจากการใส่ band ไปเป็นฟันครอบที่ถาวรต่อไป