สาเหตุของแผลในปาก มีทั้งที่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดและที่ไม่ทราบสาเหตุ แผลที่มีสาเหตุที่แน่ชัดได้แก่ แผลที่เกิดจากการระคายเคืองหรือได้รับบาดเจ็บ แผลในปากเกิดจากไวรัส เชื้อรา เป็นต้น ส่วนแผลที่ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดนั้น อาจจะพบมีปัจจัยชักนำหรือปัจจัยร่วมด้วยได้แก่ ความเครียดความวิตกกังวล นอกจากนี้โรคทางระบบของร่างกายบางโรค จะมีอาการแสดงในช่องปากหรือกระพุ้งแก้มร่วมด้วย
แผลในปากจะมีลักษณะอาการและความรุนแรงแตกต่างกันไป บางชนิดเป็นไม่นานก็หายบางชนิดจะเป็นแบบเป็นๆหายๆ เกิดซ้ำใหม่บ่อยๆ หรืออาจจะเป็นแบบแผลเรื้อรัง มีอาการเจ็บมากน้อยแตกต่างกันขึ้นกับสาเหตุ
แผลในปาก สาเหตุ ลักษณะอาการ และการรักษา
1. แผลที่เกิดจากการระคายเคืองของกระพุ้งแก้มและลิ้น
สาเหตุของการระคายเคืองเกิดการกระแทกจนเกิดแผลในปาก ซึ่งอาจเกิดจากการที่มีขอบฟันคม ฟันสึก ฟันผุมาก วัสดุอุดหลุด ฟันแตก ฟันบิ่น ฟันปลอมที่ขอบไม่เรียบ รวมถึงเครื่องมือจัดฟันทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อเมือกบริเวณกระพุ้งแก้ม ลิ้น เป็นรอยถลอก หรือเป็นแผลได้
ฟันที่ขึ้นผิดปกติโดยเฉพาะฟันกรามบนซี่สุดท้าย ฟันที่ขึ้นซ้อนเกเวลากัดจะกระแทกกระพุ้งแก้มทำให้เกิดแผลได้ การเคี้ยวอาหารพลาดไปกัดกระพุ้งแก้ม ลิ้น หรือริมฝีปาก รวมถึงการใส่ฟันปลอมที่หลวมหรือไม่พอดี เคี้ยวแล้วเจ็บเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของแผลในช่องปากที่พบได้บ่อย
ลักษณะของแผล
ลักษณะเป็นแผลเฉพาะที่ตรงบริเวณที่ได้รับการกระแทก หรือระคายเคือง โดยปกติแผลควรจะหายภายใน 1 สัปดาห์ภายหลังที่กำจัดหรือแก้ไขสาเหตุแล้ว
การรักษา
การรักษาแผลชนิดนี้ทำได้โดยการกำจัดหรือแก้ไขสาเหตุ ร่วมกับการอมน้ำเกลืออุ่นๆวันละหลายๆครั้ง ในรายที่เป็นรุนแรงแผลมีขนาดใหญ่เจ็บมาก จำเป็นต้องใช้ยาทาเฉพาะที่ซึ่งมีส่วนผสมที่มีคุณสมบัติในการปิดแผล ไม่ให้ถูกระคายเคืองและช่วยลดการอักเสบของแผลช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นรวมทั้งบรรเทาอาการเจ็บแผลด้วย
2. แผลในปากเกิดจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์ (เริม)
เรียกกันทั่วๆไปว่า “เริม” พบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่ที่เป็นในเด็กจะเป็นการติดเชื้อไวรัสนี้ครั้งแรก หลังจากหายแล้วจะเป็นซ้ำได้อีกบ่อยๆ แต่อาการจะรุนแรงน้อยกว่า
การติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ครั้งแรกที่พบในเด็กในระยะเริ่มแรก จะมีอาการเหมือนเป็นไข้หวัดมีไข้อ่อนเพลียในปากจะมีอาการเจ็บประมาณ 1-2 วัน หลังจากนั้นจะมีตุ่มน้ำใสเล็กๆอยู่เป็นกลุ่ม กระจายอยู่ทั่วไปในปาก ได้แก่ กระพุ้งแก้ม ลิ้น เพดานเหงือก หลังจากนั้นตุ่มน้ำใสจะแตกออกเป็นแผลมีขนาดและรูปร่างแตกต่างกันไม่แน่นอน มีอาการเจ็บมาก ทำให้รับประทานอาหารไม่ได้ น้ำลายออกมากกว่าปกติ แผลจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายได้เองภายใน 2 สัปดาห์
การรักษา
แผลติดเชื้อไวรัส เฮอร์ปีส์ซิมเพล็กซ์หรือ เริม โดยธรรมชาติจะหายได้เองภายใน 10-14 วันการรักษาส่วนใหญ่ เป็นการรักษาตามอาการ โดยให้ยาลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารอ่อน พักผ่อนให้เพียงพอ อาจให้ยาอมบ้วนปากที่มีส่วนผสมของยาชา เพื่อช่วยลดอาการเจ็บ ช่วยให้ปากสบายขึ้น ดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี แผลจะค่อยๆ ดีขึ้นและหายได้เอง
ถ้าหากอาการรุนแรง อาจจำเป็นต้องให้ยาต้านเชื้อไวรัส ซึ่งจะต้องให้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกที่เป็น จะได้ผลดี สำหรับแผลเริมนั้นมีโอกาสที่จะเป็นซ้ำได้ ถ้าหากร่างกายอยู่ในภาวะอ่อนแอ พักผ่อนไม่พอ เป็นไข้หวัด ขาดอาหาร มีความเครียด ถูกแสงแดดจัดๆ หรือลมทะเล เหล่านี้เป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิดการติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ซ้ำใหม่ได้อีก
3. แผลร้อนใน
พบได้บ่อยเป็นแผลที่เป็นๆหายๆ เป็นประจำพบได้ในคนทุกอายุทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดแต่มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องได้แก่ มีการระคายเคือง การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน โดยเฉพาะในผู้หญิงซึ่งพบว่ามักจะเป็นแผลชนิดนี้ช่วงก่อนหรือระหว่างมีประจำเดือน
นอกจากนี้ ความเครียดความกังวล การพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็เป็นสาเหตุซึ่งพบได้บ่อยในเด็กนักเรียนระยะใกล้สอบ หรือในกลุ่มผู้บริหารนักธุรกิจซึ่งมักจะมีความเครียดความกังวลสูง
การขาดสารอาหารได้แก่วิตามิน บี 12 (โฟลิกแอซิด) หรือภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็กโรคของระบบทางเดินอาหารพบว่าเป็นสาเหตุทำให้เกิดแผลชนิดนี้ได้
ลักษณะของแผล
ลักษณะของแผลชนิดนี้มีได้แตกต่างกัน อาจพบเป็นเพียงแผลเดี่ยวๆ หรือ 2-3 แผล มีขนาดเล็กกว่า 1 เซนติเมตร จะเป็นอยู่ประมาณ 7-10 วันแผลจะหายได้เองโดยไม่มีแผลเป็น และจะเป็นใหม่ซ้ำอีกเป็นประจำ
อีกลักษณะหนึ่งจะพบเป็นแผลขนาดใหญ่ (มากกว่า 1 เซนติเมตร) แผลจะลึกกว่าแบบแรกและมีอาการเจ็บรุนแรงมากกว่าเป็นอยู่นานกว่า 2-3 สัปดาห์ หรือบางรายอาจจะเป็นเดือน หลังจากแผลหายแล้ว จะมีแผลเป็น
นอกจากนี้อาจจะเป็นแผลขนาดเล็กเหมือนกับแบบแรกแต่จะมีจำนวนมากกว่าประมาณ 10 แผลขึ้นไปในการเป็นแต่ละครั้ง แผลชนิดนี้ส่วนใหญ่พบที่บริเวณกระพุ้งแก้ม พื้นช่องปากด้านข้างลิ้น หรือใต้ลิ้นริมฝีปากด้านใน ลักษณะของแผลในระยะเริ่มแรกจะเป็นจุดแดงขึ้นมาก่อนประมาณ 1-2 วัน และต่อมาจะกลายเป็นแผลซึ่งจะมีอาการเจ็บมากในช่วง 2-3 วันแรก ทำให้รับประทานอาหารลำบาก โดยเฉพาะแบบที่แผลมีขนาดใหญ่หลังจากนั้นอาการเจ็บจะทุเลาลงแผลชนิดนี้หลังจากหายแล้วมีโอกาสที่จะเกิดซ้ำเป็นใหม่ได้อีก
การรักษา
ส่วนใหญ่เป็นการลดการอักเสบ ช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น ช่วงระยะเวลาที่เป็นสั้นลง และการเกิดเป็นซ้ำห่างออกไป ในกรณีที่เกิดจากการขาดสารอาหารพวกวิตามิน บี 12 การให้สารอาหารนี้จะช่วยลดความรุนแรงของอาการเจ็บ จำนวนแผลระยะเวลาการหายและความถี่ของการเกิดแผลใหม่ซ้ำอีก
4. แผลติดเชื้อราแคนดิดา
ลักษณะของแผลติดเชื้อราแคนดิดามีได้ถึง 4 รูปแบบ คือ
แบบที่ 1 พบเป็นแผลอักเสบ แต่มีฝ้าขาวเช็ดออกได้ปกคลุมอยู่ กระจายอยู่ทั่วไปในช่องปาก แผลชนิดนี้พบบ่อยในเด็กทารก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ที่ใช้ยาพวกสเตียรอยด์ทั้งในรูปของการทาเฉพาะที่หรือรับประทาน ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บไม่มากรู้สึกสากๆ ในปากรับประทานอาหารไม่รู้รส
แบบที่ 2 มีการอักเสบเป็นรอยแดงจัด พบที่บริเวณกระพุ้งแก้ม ลิ้น เพดาน มีอาการปวดแสบปวดร้อนและเจ็บร่วมด้วย โดยเฉพาะที่ลิ้น ทำให้รับประทานอาหารไม่ได้พบในผู้ที่รับประทานยาปฏิชีวนะติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้อ
แบบที่ 3 พบในผู้ที่ใส่ฟันปลอมบนตลอดเวลา แม้เวลานอน จะพบมีการติดเชื้อราแคนดิดาที่เยื่อเมือกเพดานส่วนที่รองรับฐานของฟันปลอมทั้งหมด มีลักษณะเป็นการอักเสบสีแดงจัด บวม ไม่เจ็บ ในรายที่เป็นมานานอาจพบมีเนื้องอกหรือการโตขึ้นของเยื่อเมือกเพดาน
แบบที่ 4 ลักษณะเป็นฝ้าขาวหนาตัวขึ้นมา เช็ดไม่ออก พบที่บริเวณกระพุ้งแก้มใกล้มุมปาก หรือลิ้นด้านบน แผลชนิดนี้บางครั้งอาจพบมีการอักเสบแดงร่วมด้วย มีอาการเจ็บหรือปวดแสบปวดร้อน
การรักษา
การให้การรักษาการติดเชื้อราแคนดิดา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน จำเป็นจะต้องให้ยาต้านเชื้อรา ซึ่งมีทั้งที่เป็นแบบยาน้ำอมกลั้วในปากให้ทั่ว หรือยาชนิดเม็ดใช้อมให้ฟู่ในช่องปาก หรือเป็นยารับประทาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรง
ซึ่งทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาว่า ควรใช้ในรูปแบบใด รวมทั้งการใช้น้ำยาอมบ้วนปากร่วมด้วย ในกรณีที่ใส่ฟันปลอมจำเป็นต้องกำจัดเชื้อราที่ฟันปลอมด้วย โดยต้องถอดฟันปลอมออกแช่น้ำยาฆ่าเชื้อ ส่วนใหญ่แล้วยาต้านเชื้อราให้ผลในการรักษาดี โดยทั่วไปควรจะหายเป็นปกติภายในสองสัปดาห์
5. แผลไลเคนพลานัส
แผลในปากอีกชนิดหนึ่งซึ่งพบได้ค่อนข้างบ่อย มักพบในผู้ใหญ่วัยกลางคนเป็นส่วนใหญ่ เรียกว่าไลเคน พลานัส ซึ่งจะมีอาการปวดแสบปวดร้อน เจ็บในปาก ทำให้รับประทานอาหารโดยเฉพาะพวกรสจัดรสเผ็ดไม่ได้ เป็นเรื้อรัง
แผลชนิดนี้จะมีลักษณะเป็นรอยอักเสบแดงและล้อมรอบด้วยเส้นลายขาวๆตรงกลาง เป็นแผลสีเหลืองปนเทา พบที่บริเวณกระพุงแก้มบริเวณฟันกราม หลังที่รอยต่อระหว่างเหงือกและกระพุ้งแก้ม ที่ด้านข้างของลิ้นเพดานเหงือก
สาเหตุของแผลชนิดนี้ไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่าการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาใช้รักษาความดันโลหิตสูงบางตัว มีผลทำให้เกิดรอยโรคนี้ได้ นอกจากนี้พบว่าความเครียดความวิตกกังวลมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดแผลชนิดนี้ และมีความรุนแรงมากขึ้นได้ ไลเคนพลานัส เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งซึ่งจะมีรอยโรคทั้งที่ผิวหนังและในช่องปาก หรืออาจจะพบเฉพาะที่ใดที่หนึ่งเพียงแห่งเดียวก็ได้
ในผู้ป่วยเอดส์พบว่ามีแผลในช่องปากเรื้อรังอยากทราบว่าเป็นแผลชนิดใด
ส่วนใหญ่ที่พบมักจะเป็นแผลติดเชื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลติดเชื้อราแคนดิดา แผลติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ รวมถึงเชื้อแบคทีเรียพบได้บ่อย ทั้งนี้เนื่องจากผู้ป่วยเอดส์ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ความต้านทานของร่างกายลดน้อยลงมาก ดังนั้นจึงเกิดการติดเชื้อได้ง่ายและค่อนข้างรุนแรงมากกว่าในคนปกติ การตอบสนองต่อการรักษาก็น้อยกว่า มักจะเป็นนานเรื้อรังหรือรักษาหายแล้วก็กลับมาเป็นใหม่อีก
สรุป
โดยทั่วไปแล้วแผลในช่องปากสามารถรักษาให้หายขาดได้ ไม่เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต เพียงแต่ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดแสบปวดร้อน มีผลทำให้รับประทานอาหารไม่ได้ ซึ่งถ้าได้รับการตรวจวินิจฉัยที่ถูกต้องและการรักษาที่เหมาะสม ก็จะหายได้เป็นปกติ
เนื่องจากแผลในช่องปาก มีสาเหตุได้หลายประการ การกำจัดสาเหตุ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผลที่เกิดจากการระคายเคืองเฉพาะที่ ดังนั้นเมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นควรจะพบทันตแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก
แผลในช่องปากที่เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ก็คือมะเร็งในช่องปาก ซึ่งส่วนใหญ่ถ้าหากได้รับการตรวจพบตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ก็สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ถ้าปล่อยไว้จนแผลนั้นลุกลามมากขึ้นทำให้การรักษายุ่งยาก และบางครั้งสายเกินไปที่จะให้การรักษาได้
มะเร็งในช่องปากบางชนิด เริ่มจากการเป็นแผลจากการระคายเคือง แต่ไม่ได้รับการกำจัดสาเหตุและรักษา ปล่อยไว้จนกลายเป็นเนื้อร้าย มะเร็งในระยะแรกอาจไม่มีอาการเจ็บ ทำให้ผู้ป่วยละเลย
ดังนั้น เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น ควรจะรีบพบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัย การดูแลสุขภาพในช่องปากให้ดีอยู่เสมอเป็นสิ่งสำคัญ การพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพในช่องปากอย่างน้อยปีละ 1-2 ครั้ง เป็นเรื่องจำเป็นซึ่งจะช่วยให้ตรวจพบการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติได้
รองศาสตราจารย์ทันตแพทย์หญิง กฤษณา อิฐรัตน์
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ คุยกับหมอฟัน
คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย