โรคในช่องปาก ที่เป็นปัญหาสำคัญต่อสุขภาพในช่องปากของคนเรา มีอยู่ 2 โรคด้วยกัน คือ โรคฟันผุ และโรคปริทันต์ ซึ่งทั้งสองโรคนี้สามารถทำให้คนเราต้องสูญเสียฟันไปก่อนกำหนดได้
สำหรับโรคฟันผุนั้น ส่วนใหญ่คงรู้จักกันดีอยู่แล้ว ถ้าฟันผุ แล้วปล่อยทิ้งไว้ไม่มารักษาจนกระทั่งสายเกินไป ทำการบูรณะไม่ได้แล้ว ฟันซี่นั้นก็จะต้องถูกถอนออกไป ส่วนโรคปริทันต์ คืออะไร? …บทความนี้จะให้รายละเอียดสำคัญที่ควรทราบ ซึ่งรวมไปถึงอาการเริ่มต้น วิธีรักษา และค่ารักษาโรคปริทันต์
โรคปริทันต์ คืออะไร
โรคปริทันต์ (โรครำมะนาด) บางคนอาจจะยังไม่รู้จัก และยังไม่เข้าใจว่า ทำไมหากไม่ได้รับการรักษาด้วยการขูดหินปูนและเกลารากฟันแล้ว ถึงมีโอกาสทำให้เราต้องสูญเสียฟันได้?
เนื่องจากแผ่นคราบจุลินทรีย์และหินปูนที่เกิดขึ้นบนตัวฟัน นอกจากจะเกิดขึ้นในส่วนเหนือเหงือกที่เรามองเห็นได้แล้ว หากปล่อยทิ้งไว้นานๆ ยังเกิดลึกลงไปในส่วนใต้ขอบเหงือก หรือในร่องเหงือกที่เรามองไม่เห็นด้วย ในส่วนใต้เหงือกนี้เองที่เป็นส่วนสำคัญให้เกิดการลุกลามของโรคปริทันต์ลงสู่กระดูกเบ้าฟัน
โดยเชื้อจุลินทรีย์พวกที่อยู่ใต้เหงือกนี้มีฤทธิ์ทำลายที่รุนแรง สามารถทำลายได้ทั้งเนื้อเยื่อของเหงือก และไปละลายกระดูกเบ้าฟันได้ ทำให้ร่องเหงือกลึกลงไปเรื่อยๆ เหงือกก็จะไม่ยึดแนบกับตัวฟัน ระยะนี้อาจเริ่มรู้สึกว่ามีอาการฟันโยก
ถ้ายังปล่อยทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา การทำลายของเหงือกและกระดูกเบ้าฟัน ก็จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไป จนในที่สุดฟันซี่นั้นก็สูญเสียอวัยวะรอบฟันที่ช่วยยึดเกาะฟันไว้กับขากรรไกร จนไม่สามารถเก็บรักษาไว้ได้ ต้องถูกถอนทิ้งไป
โรคปริทันต์ อาการ
- มีเลือดออกขณะแปรงฟัน
- เหงือกมีลักษณะบวมแดง
- มีหินปูนบริเวณขอบเหงือก
- มีกลิ่นปาก
- มีเหงือกร่น
- ฟันโยก
- ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจมีหนองออกมาจากร่องเหงือก
โรคปริทันต์ วิธีรักษา
วิธีการรักษาผู้ที่เป็นโรคปริทันต์ด้วยการ เกลารากฟัน มีขั้นตอนสำคัญๆ ดังนี้
- ทันตแพทย์จะทำการอธิบายวิธีดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้อง เนื่องจากสาเหตุของโรคปริทันต์ คือแผ่นคราบจุลินทรีย์บนผิวฟัน ซึ่งจะเกิดขึ้นใหม่ได้ทุกๆวัน ดังนั้น คนไข้จึงจำเป็นต้องเป็นสามารถทำความสะอาดฟันและซอกฟันอย่างดีและสม่ำเสมอด้วยตนเองต่อไป
- ทันตแพทย์ทำการขูดหินปูนทั้งบนตัวฟันและส่วนที่อยู่ลึกภายในร่องเหงือกบนผิวรากฟัน แล้วเกลารากฟันให้เรียบ เพื่อที่จะเอื้ออำนวยให้เนื้อเยื่อเหงือก สามารถกลับมายึดแน่นกับผิวฟันได้เหมือนเดิม ในขั้นตอนนี้จะต้องใช้ความละเอียดประณีตและระยะเวลาค่อนข้างมาก มักไม่เสร็จในครั้งเดียว ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหา
- ในบางกรณีที่ปัญหารุนแรงมาก มีการละลายของกระดูกและเหงือกร่นลงไปมาก ทันตแพทย์อาจพิจารณาว่าจำเป็นต้องใช้วิธีผ่าตัดเหงือกร่วมด้วยหรือไม่
- หลังการรักษา คนไข้ควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจดูภายใน 3 เดือนแรกเพื่อประเมินว่าสภาพเหงือกเป็นอย่างไรบ้าง และคนไข้มีการดูแลสุขภาพช่องปากตามที่แนะนำได้ดีเพียงใด หากสภาพในช่องปากดี หลังจากนั้นก็จะนัดมาตรวจทุก 6 เดือน
โรคปริทันต์ ค่ารักษา
การเกลารากฟันทั้งปากเพื่อรักษาโรคปริทันต์ ค่ารักษา 3,000-6,000 บาท โดยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและระยะเวลาที่ทันตแพทย์ใช้ในการทำหัตถการ ในคนไข้ที่เป็นโรคปริทันต์ในระยะแรกๆ ทันตแพทย์อาจสามารถเกลารากฟันทั้งปากให้เสร็จได้ใน 2 ครั้ง ส่วนในคนไข้อาการรุนแรง ทันตแพทย์จะแบ่งการรักษาเป็น 4 ครั้ง ตามพื้นที่ในช่องปาก 4 quadrant
ผู้อยู่ในระบบประกันสังคม สามารถใช้สิทธิ์เบิกค่ารักษาโรคปริทันต์ด้วยการเกลารากฟัน ได้ปีละ 900 บาท
การแปรงฟันป้องกันโรคปริทันต์ ได้หรือไม่?
ในการทำความสะอาดฟันนอกจากการแปรงฟันตามปกติแล้ว ยังจำเป็นต้องทำความสะอาดบริเวณซอกฟัน หรือส่วนที่อยู่ระหว่างซี่ฟัน ด้วยไหมขัดฟัน หรือแปรงซอกฟันอีกด้วย
ถ้าทำความสะอาดฟันอย่างถูกวิธี จะสามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์ได้ แต่ถ้าทำความสะอาดไม่ดี หรือ ปล่อยปละละเลย ก็จะเกิดการสะสมของคราบจุลินทรีย์ขึ้น ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป จะเกิดการตกตะกอนของแร่ธาตุในน้ำลาย ทำให้แผ่นคราบจุลินทรีย์นั้นกลายเป็นหินปูนเกาะบนตัวฟันได้
ซึ่งตัวหินปูนเองจะมีลักษณะพื้นผิวขรุขระเป็นรูพรุนเล็ก ๆ เป็นที่อยู่อาศัยของแบคทีเรียอย่างดี การมีหินปูนบนตัวฟัน จึงเท่ากับเป็นการเพิ่มที่อยู่อาศัยให้แก่พวกแบคทีเรียมากขึ้นๆทำไปสู่การเป็นโรคปริทันต์
โรคปริทันต์รักษาหายไหม กลับมาเป็นใหม่ได้หรือไม่?
โรคปริทันต์สามารถกลับมาเป็นใหม่ได้ถ้าดูแลสุขภาพในช่องปากไม่ดี คือถ้าไม่สามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์ได้ดี จนระดับหนึ่งที่แบคทีเรียในคราบจุลินทรีย์มีฤทธิ์ทำลายได้ ก็จะทำให้เหงือกกลับมาอักเสบได้ใหม่ ดังนั้นจึงพยายามเน้นว่าคนไข้ต้องสามารถดูแลสุขภาพในช่องปากให้ดีอย่างสม่ำเสมอ โดยการแปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟัน
สรุป
เนื่องจากคราบจุลินทรีย์เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคปริทันต์ถ้าสามารถกำจัดคราบจุลินทรีย์ได้ โดยการทำความสะอาดฟันและเหงือกอย่างถูกต้อง ก็จะสามารถป้องกันโรคปริทันต์ได้ โดยมีข้อแนะนำดังนี้
- ควรแปรงฟันและทำความสะอาดซอกฟันอย่างถูกต้อง เพื่อกำจัดคราบจุลินทรีย์ให้ได้อย่างสม่ำเสมอ
- พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน เพื่อตรวจว่ามีคราบจุลินทรีย์และหินปูนที่หลงเหลือจากการทำความสะอาดเองหรือไม่ ซึ่งจะรักษาได้ง่ายด้วยการขูดหินปูนตามปกติ
- หากมีอาการของโรคปริทันต์แล้ว ควรเข้ารับการรักษาด้วยการขูดหินปูนและเกลารากฟัน ไม่ควรปล่อยให้ระยะของโรคลุกลามไปมาก ซึ่งจะทำให้รักษายาก ราคาค่าใช้จ่ายสูง และความแข็งแรงของเหงือกและฟันภายหลังการรักษาลดลงตามลำดับ