รักษารากฟัน อยู่ได้นานไหม? และข้อมูลที่ควรทราบก่อน

การรักษารากฟัน เป็นการรักษาทางทันตกรรมที่บางกรณีมีความซับซ้อนพอสมควร ทั้งยังมีการพยากรณ์ผลสำเร็จของการรักษาแตกต่างกันไปตามสภาพฟันแต่ละซี่ คนไข้จึงควรสอบถาม ปรึกษา และทำความเข้าใจกับทันตแพทย์ผู้ทำการรักษารากฟันให้เกิดความกระจ่าง ก่อนเริ่มต้นการรักษารากฟันเสมอ

รักษารากฟันอยู่ได้นานไหม

รักษารากฟัน อยู่ได้นานไหม?

หากสามารถทำความสะอาดคลองรากฟันได้ดีและอุดรากฟันได้สนิท ก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้มีเชื้อโรคเข้าไปก่อปัญหาอีก เมื่อได้บูรณะตัวฟันให้เรียบร้อย (โดยการอุดถาวร หรือ ทำครอบฟัน แล้วแต่กรณี) และทันตแพทย์ได้ทำการตรวจสอบไม่ให้มีการสบกระแทกฟันคู่ตรงข้าม รวมถึงคนไข้ใช้งานอย่างเหมาะสม (หลีกเลี่ยงการเคี้ยวของแข็งมากๆ)

ก็จะสามารถใช้งานฟันซี่นั้นได้เหมือนฟันปกตินานนับสิบปี ยกเว้นฟันที่มีประวัติว่าเป็นฟันร้าว หรือเคยถูกกระทบกระแทกแรงๆมาก่อน หลังจากรักษารากฟันแล้ว ต้องระมัดระวังการใช้งานบดเคี้ยวมากกว่าปกติ เพราะแม้ครอบฟันแล้ว รากฟันที่ร้าวก็ยังมีโอกาสแตกได้

 

รักษารากฟัน ต้องครอบฟันไหม?

ฟันที่รักษารากฟันแล้ว หากมีเนื้อฟันเหลือมากพอสมควร อาจจะบูรณะด้วยการอุดฟันได้ เหมือนกรณีฟันผุทั่วๆไป แต่กรณีฟันผุจนสูญเสียเนื้อฟันไปมาก หรือเป็นฟันในตำแหน่งที่ต้องรับแรงบดเคี้ยวมาก ก็ควรบูรณะด้วยการทำครอบฟันจะแข็งแรงกว่า

ซึ่งอาจจะต้องใส่เดือยฟันเพื่อช่วยเสริมความแข็งแรงก่อนการทำครอบฟัน มิฉะนั้นหากเกิดปัญหาเนื้อฟันแตก/หัก หลังจากรักษารากฟันไปแล้ว อาจต้องถอนฟันออกทั้งซี่

นอกจากนี้ ในบางกรณีที่ตำแหน่งของฟันผุอยู่ในระดับลึกใต้เหงือกมาก ก่อนการทำครอบฟัน จำเป็นจะต้องมีการผ่าตัดเหงือกเพื่อเพิ่มความสูงตัวฟันโดยทันตแพทย์เฉพาะทางด้านปริทันตวิทยา เพื่อให้สามารถทำฟันครอบได้ในตำแหน่งที่เหมาะสมอีกด้วย

 

รักษารากฟันฟันหน้า ง่ายกว่าฟันกรามจริงหรือ?

ฟัน 4 ซี่ด้านหน้า ฟันเขี้ยว และฟันกรามน้อยบางซี่ เป็นฟันที่มีคลองรากฟันเดียว จึงทำให้คลองรากฟันมีขนาดใหญ่ และไม่ค่อยโค้งงอ ประกอบกับอยู่ในตำแหน่งที่ทันตแพทย์เข้าถึงได้ง่าย กันน้ำลายได้ดีกว่า

ส่วนฟันกรามเป็นฟันที่มีหลายราก บางรากมีความโค้งมาก/น้อยต่างกัน คลองรากฟันจึงมีขนาดเล็ก บางครั้งคลองรากตีบมาก บางครั้งรากตัน ยากต่อการสอดเครื่องมือลงไปทำความสะอาดจนถึงปลายรากได้

ประกอบกับตำแหน่งของฟันกรามทันตแพทย์เข้าถึงได้ยากกว่า กันน้ำลายได้ยากกว่า อีกทั้งคนไข้ต้องอ้าปากกว้างกว่าการทำฟันด้านหน้า ดังนั้น การรักษารากฟันหน้าและฟันที่มีคลองรากเดียว จึงง่ายกว่าการรักษารากฟันกราม

 

รักษารากฟัน เจ็บไหม?

ฟันที่มีปัญหาจนต้องรักษารากฟัน อาจแบ่งกว้างๆเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. ฟันตาย (non vital tooth) : คือฟันที่หลอดเลือดหรือเส้นประสาทที่มาเลี้ยงฟันซี่นั้นถูกทำลายไปหมดแล้วจากสาเหตุใดก็ตาม ซึ่งมักสังเกตได้ว่าฟันค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น หรือมีหนองปลายรากฟัน กรณีเช่นนี้ทันตแพทย์สามารถกรอฟันเพื่อเปิดช่องทางนำเครื่องมือเข้าไปทำความสะอาด และล้างภายในคลองรากฟันได้ กรณีนี้คนไข้จะไม่รู้สึกเจ็บและไม่ต้องใช้ยาชา (อาจจะรู้สึกบริเวณเหงือกบ้างเล็กน้อยในขั้นตอนการใส่ clamp เพื่อยึดแผ่นยางกันน้ำลาย)
  2. ฟันที่ยังมีชีวิตอยู่ (vital tooth) : คือฟันที่ผุ หรือแตก ทะลุโพรงประสาทฟัน คนไข้มักจะมีอาการปวดแทบจะตลอดเวลาโดยเฉพาะในขณะเคี้ยวอาหาร กรณีเช่นนี้เนื่องจากเส้นประสาทฟันยังรับรู้ความรู้สึกอยู่ทั้งหมด หรือบางส่วน ในการรักษารากฟันทันตแพทย์จะใช้ยาชาช่วยให้คนไข้ไม่รู้สึกเจ็บระหว่างการรักษา หลังการรักษา อาจไม่รู้สึกเจ็บเลยหรือ เจ็บระบมบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาพการอักเสบของฟันก่อนเริ่มการรักษา

บทความที่เกี่ยวข้อง

slogan_sktdental