ขูดหินปูน สะอาดหมดจด ต้องทนเจ็บ จริงหรือ?

หลายๆคนหลีกเลี่ยงการไปพบทันตแพทย์ เนื่องจากกลัวความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการทำฟัน ทำให้ละเลยการตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูนที่ควรทำทุก 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละครั้ง ซึ่งเป็นการรักษาทันตกรรมพื้นฐานเบื้องต้นที่จะทำให้เรามีสุขภาพฟันที่ดี แข็งแรง สามารถใช้งานบดเคี้ยวอย่างมีความสุขไปได้ยาวนาน

ในบทความนี้คุณหมอได้สรุปประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขูดหินปูนไว้ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับผู้ที่สนใจ รวมถึงได้ตอบคำถามที่หลายๆคนสงสัยว่า “ขูดหินปูนเจ็บไหม”

ขูดหินปูน

 

ขูดหินปูนเจ็บไหม ต้องเจ็บถึงจะสะอาดจริงหรือ?

การขูดหินปูนไม่จำเป็นต้องเจ็บเสมอไป หากคนไข้มีการทำความสะอาดฟันที่ดี ใช้ไหมขัดฟันบริเวณซอกฟันที่แปรงฟันได้ยากเป็นประจำ และพบทันตแพทย์เพื่อขูดหินปูนทุก 6 เดือน ก็จะมีสุขภาพเหงือกและฟันที่ดี มักไม่เกิดความเจ็บปวด หรืออาจเจ็บเพียงแค่เล็กน้อย ระหว่างทำหัตถการ

แต่เมื่อมีการสะสมของคราบจุลินทรีย์และหินปูนตามบริเวณใต้เหงือก จนเกิดปัญหาเหงือกอักเสบเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน ก็อาจจะพัฒนาไปสู่การเป็นโรคปริทันต์อักเสบ ซึ่งการรักษายุ่งยากซับซ้อนกว่า ค่าใช้จ่ายสูงกว่า และเนื่องจากต้องมีการขูดลึกลงไปใต้เหงือกเพื่อทำความสะอาดหินปูนที่สะสมอยู่ใต้เหงือก ก็อาจจะทำให้เจ็บได้บ้างในขั้นตอนนี้

 

การขูดหินปูน

การขูดหินปูน คือ การกำจัดคราบจุลินทรีย์และหินน้ำลายที่เกาะอยู่บนผิวฟัน โดยจะพบมากในบริเวณขอบเหงือกและตามซอกฟัน ซึ่งมักเป็นจุดที่คนไข้แปรงได้ไม่สะอาด ทำให้เกิดการสะสมของคราบอาหารและเชื้อจุลินทรีย์ เมื่อคราบเหล่านี้สะสมเป็นเวลานาน ก็จะเกิดการตกตะกอนของธาตุแคลเซียมในน้ำลาย กลายเป็นคราบแข็งเกาะสะสมตามคอฟัน

การขูดหินปูนเป็นหนึ่งในทันตกรรมป้องกันที่สำคัญ ซึ่งช่วยดูแลรักษาสุขภาพช่องปาก รวมถึงป้องกันและแก้ไขปัญหากลิ่นปาก ที่มีสาเหตุมาจากการมีหินปูนมากจนทำให้เหงือกอักเสบและฟันผุ

การขจัดคราบหินปูนเหล่านี้ ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือทางทันตกรรมที่มีแรงสั่นสะเทือนความถี่สูง ค่อยๆกระเทาะหินปูนให้หลุดออกจากตัวฟันทีละซี่ โดยไม่ได้ขูดที่ผิวฟันโดยตรง และขจัดหินปูนที่สะสมใต้เหงือกลึกๆ ด้วยอุปกรณ์เกลารากฟัน

เมื่อขจัดคราบหินปูนเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทันตแพทย์ก็จะใช้เครื่องขัดฟัน แบบหัวยางนิ่ม (prophylaxis rubber cup) หรือ แบบแรงดันน้ำ (airflow) ขัดคราบสกปรกที่เหลืออยู่บริเวณผิวเคลือบฟันให้สะอาดหมดจด

เครื่องมือขูดหินปูนภาพแสดงชุดเครื่องมือขูดหินปูนและขัดฟัน

 

การขูดหินปูนเป็นทันตกรรมป้องกันที่มีค่าใช้จ่ายไม่มาก แต่ได้ผลลัพธ์ในการดูแลสุขภาพช่องปากดีเยี่ยม : ขูดหินปูน ราคา

 

หินปูนคืออะไร?

หินปูน เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปากและคราบอาหารกับน้ำลาย สะสมรวมกันจนเป็นแผ่นคราบเกาะอยู่บนตัวฟัน ซึ่งในช่วงแรกจะยังมีลักษณะเป็นฟิล์มบางๆ สามารถหลุดออกด้วยการแปรงฟันตามปกติ แต่เมื่อปล่อยทิ้งไว้ ก็จะค่อยๆเกิดการสะสมและรวมตัวกับแร่ธาตุแคลเซียมในน้ำลาย จนกลายเป็นหินปูนแข็ง ซึ่งมักเกาะอยู่ตามขอบเหงือก คอฟัน และซอกฟันในจุดที่การแปรงฟันเข้าถึงได้ยาก

หินปูนมีทั้งส่วนที่พ้นขอบเหงือกซึ่งจะสังเกตเห็นได้ กับส่วนที่อยู่ลึกใต้เหงือกซึ่งมองไม่เห็น การสะสมของหินปูนจะทำให้เหงือกอักเสบ มีกลิ่นปาก และเมื่อทิ้งไว้เป็นระยะเวลานานจะนำไปสู่การเป็นโรคปริทันต์อักเสบ (โรครำมะนาด)

สัญญาณของการเป็นโรคปริทันต์ที่คนไข้มักสังเกตได้นอกจากการเกิดแผ่นคราบหินปูนสีเหลือง/น้ำตาลเกาะอยู่บริเวณขอบเหงือก คือ เมื่อแปรงฟันแล้วจะมีเลือดออก เหงือกอักเสบบวมแดง และเนื่องจากหินปูนในบริเวณคอฟันจะเกาะลงไปใต้เหงือกลึกขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้เหงือกร่นและกระดูกที่รองรับรากฟันเริ่มละลายตัว ฟันโยก ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่รับการรักษา จะนำไปสู่การสูญเสียฟันได้ในที่สุด

 

ขูดหินปูนต้องฉีดยาชาไหม?

การขูดหินปูนโดยทั่วไปในช่วงที่ยังมีหินปูนไม่มากนัก จะเป็นการรักษาทางทันตกรรมที่เรียบง่าย มักไม่รู้สึกเจ็บขณะขูดหินปูน หรืออาจจะเจ็บ/เสียวฟันบ้างเล็กน้อย ไม่จำเป็นต้องฉีดยาชา แต่หากปล่อยทิ้งไว้นานจนเริ่มมีหินปูนสะสมใต้เหงือก มีการอักเสบ การขูดหินปูนก็อาจทำให้รู้สึกเจ็บอยู่บ้าง

ส่วนในคนไข้ที่มีภาวะเหงือกอักเสบเป็นเวลานานจนพัฒนาเป็นโรคปริทันต์ ในการกำจัดหินปูนออกให้หมดเพื่อฟื้นฟูสภาพของเหงือกและฟัน บางกรณีจำเป็นต้องใช้ยาชาช่วยเพื่อให้การรักษาเป็นไปได้อย่างสะดวก โดยในตำแหน่งฟันบน อาจต้องฉีดยาชาหลายตำแหน่ง เพราะเป็นการฉีดยาชาเฉพาะที่ ส่วนในฟันล่างสามารถฉีดยาชาบล็อคทั้งด้านซ้ายและขวาได้ จึงฉีดแค่ 2 ข้างก็เพียงพอสำหรับตำแหน่งฟันล่างทั้งหมด

 

ขูดหินปูนแล้วเลือดออก

การขูดหินปูนโดยปกติอาจมีเลือดออกซึมๆได้ โดยเฉพาะถ้าคนไข้มีอาการของโรคเหงือกอักเสบ แต่เลือดจะหยุดได้เองในเวลาไม่นานนัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล

บางครั้ง (ซึ่งพบไม่บ่อย) ก็อาจมีเลือดออกซึมๆจากบริเวณที่ขูดหินปูน เนื่องจากบังเอิญมีเศษหินปูนที่เหลือติดค้างอยู่ใต้เหงือก จนคนไข้เกิดการระคายเคืองเหงือก ซึ่งอาจจะเกิดในกรณีคนไข้เป็นโรคเหงือกหรือโรคปริทันต์

ส่วนในกรณีคนไข้ที่มีปัญหาของโรคเลือดบางอย่าง ซึ่งทำให้เลือดแข็งตัวช้า หรือรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด อาจพบได้ว่ามีเลือดออกผิดปกติหลังการรักษา หรือขูดหินปูนแล้วเลือดไหลไม่หยุด กรณีเช่นนี้คนไข้จึงควรแจ้งข้อมูลตามที่ตนเองทราบแก่ทันตแพทย์ก่อนการรักษา

 

ขูดหินปูนแล้วฟันโยก

การที่หลังจากขูดหินปูนแล้วมีอาการฟันโยก แสดงให้เห็นว่าคนไข้เคยมีปัญหาเหงือกอักเสบและกระดูกหุ้มรากฟันบางส่วนละลายตัว ซึ่งหากเป็นไม่มากนักหลังจากขูดหินปูนและเกลารากฟันจนสะอาดแล้ว ต่อไปเหงือกจะแข็งแรงขึ้นทำให้ฟันแน่นขึ้น

แต่ถ้าเป็นโรคปริทันต์รุนแรง หรือมีปัญหาฟันสบกระแทกกันด้วย ฟันอาจจะไม่หายโยก หากคนไข้สังเกตว่า หลังขูดหินปูนฟันโยกมากผิดปกติและอาการไม่ดีขึ้น ควรเข้าพบคุณหมอเพื่อตรวจซ้ำและแก้ไขตามที่เหมาะสม

 

ควรขูดหินปูนบ่อยแค่ไหน?

ควรขูดหินปูนทุก 6 เดือนเป็นประจำสม่ำเสมอ หรืออย่างน้อยปีละครั้งในผู้ที่ดูแลสุขภาพปากและฟันได้ดี ส่วนผู้ที่เคยเป็นโรคปริทันต์อักเสบควรต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ หลังจากการรักษาเสร็จลุล่วงแล้ว ทันตแพทย์มักแนะนำให้คนไข้เข้ารับการตรวจเช็คและขูดหินปูนทุก 3-6 เดือน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม

บทความที่เกี่ยวข้อง

slogan_sktdental