ปัญหาฟันล่างคร่อมฟันบน ส่วนใหญ่เกิดจากพันธุกรรม แต่บางครั้งก็เกิดขึ้นจากสาเหตุอื่น เช่น การสูญเสียฟันน้ำนมด้านหน้าบนเร็วกว่ากำหนดทำให้ฐานกระดูกขากรรไกรบนไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร หรือ เกิดจากขนาด/ตำแหน่ง/การทำงานของลิ้นผิดปกติ เป็นต้น
ฟันล่างคร่อมฟันบน หากได้รับการแก้ไขโดยทันตแพทย์จัดฟันตั้งแต่อายุยังน้อย (7-12 ปี) จะช่วยบรรเทาความรุนแรงและลดโอกาสที่จะต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรในอนาคตได้ เพราะร่างกายของเด็กกำลังมีการเจริญเติบโต การจะกระตุ้นส่วนที่เจริญเติบโตน้อยกว่าปกติให้เติบโตมากขึ้น หรือยับยั้งส่วนที่เจริญเติบโตมากกว่าปกติ จะทำได้ผลดีในระยะนี้
อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่จะยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้เบ็ดเสร็จ มักต้องจัดฟันต่อด้วยเครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่นในช่วงฟันแท้ (12 ปีขึ้นไป) บางกรณีที่ปัญหารุนแรงอาจยังคงต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร ซึ่งจะเริ่มทำเมื่อร่างกายหยุดการเจริญเติบโตแล้ว (18-19 ปีขึ้นไป)
ภาพที่ 1) การสบฟันโดยปกติจะมีฟันหน้าบนครอบฟันหน้าล่าง โดยเหลื่อมกันประมาณ 2-3 มม.
การจัดฟันแก้ปัญหาฟันล่างคร่อมฟันบน
ปัญหาการสบฟันที่เกิดจากขนาดของขากรรไกรบน/ล่าง ไม่สัมพันธ์กัน โดยมีฟันล่างคร่อมฟันบน จะเรียกว่า การสบฟันผิดปกติแบบที่ 3 (class III malocclusion)
การแก้ไขปัญหาจะใช้วิธีจัดฟันอย่างเดียว หรือ จัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร โดยประเมินจากสภาพการสบฟัน โครงสร้างใบหน้า ฟิล์มเอ็กซ์เรย์กระโหลกศีรษะด้านข้าง และประวัติทางพันธุกรรม
การพิจารณาเบื้องต้น หากคนไข้สามารถเลื่อนฟันหน้าบน/ล่างให้ชนกันได้ มักจะสามารถจัดฟันโดยไม่ต้องผ่าตัดขากรรไกรได้ (แต่ไม่ทุกกรณี)
1. การสบฟันผิดปกติแบบที่ 3 เทียม (Pseudo class III malocclusion)
จะมีลักษณะและขนาดของขากรรไกรล่างปกติ แต่ขากรรไกรบนเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติ (ภาพที่ 2) จึงดูเหมือนคางยื่น ทั้งๆที่ความเป็นจริงคือ เป็นเพราะขากรรไกรบนและฟันบนยุบกว่าปกติ
แนวทางการแก้ไขในช่วงวัยเด็ก : ใช้เครื่องมือช่วยกระตุ้นขากรรไกรบนให้เจริญเติบโตมาสัมพันธ์กับขากรรไกรล่าง
โอกาสในการจัดฟันโดยไม่ต้องผ่าตัด : หลายกรณีสามารถจัดฟันโดยไม่ต้องผ่าตัดได้ ถ้าปัญหาไม่รุนแรง
2. การสบฟันผิดปกติชนิดโครงสร้างแบบที่ 3 (Skeletal class III malocclusion)
ซึ่งจะแยกย่อยเป็น 2 กรณี คือ
2.1) ขากรรไกรล่างยื่น+ขากรรไกรบนปกติ
แนวทางการแก้ไขในช่วงวัยเด็ก : อาจใช้อุปกรณ์ครอบคางเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของขากรรไกรล่าง แต่ผลลัพธ์จากงานวิจัยในปัจจุบันระบุว่าวิธีนี้ไม่ค่อยได้ผลนัก
โอกาสในการจัดฟันโดยไม่ต้องผ่าตัด : บางกรณีสามารถจัดฟันโดยไม่ต้องผ่าตัดได้ ถ้าปัญหาไม่รุนแรงและคนไข้ยอมรับผลการรักษาที่อาจไม่สมบูรณ์ 100% ได้
2.2) ทั้งขากรรไกรล่างยื่น+ขากรรไกรบนเจริญเติบโตน้อยกว่าปกติ
ซึ่งการสบฟันกรณีแบบนี้จะมีความรุนแรงของปัญหามากที่สุด
แนวทางการแก้ไขในช่วงวัยเด็ก : อาจจะใช้ทั้งเครื่องมือกระตุ้นขากรรไกรบน และยับยั้งการเจริญเติบโตของขากรรไกรล่าง ซึ่งหวังผลเพื่อลดความรุนแรงของปัญหา และช่วยให้การแก้ไขเมื่อคนไข้โตเต็มที่แล้วยุ่งยากน้อยลง
โอกาสในการจัดฟันโดยไม่ต้องผ่าตัด : ส่วนใหญ่ต้องใช้การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด
— คำถามที่น่าสนใจ —
ฟันล่างคร่อมฟันบนจัดฟันแบบไม่ผ่าตัดได้ไหม?
มีปัญหาเรื่องฟันล่างคร่อมฟันบนค่ะ ตอนนี้อายุ 16 ปี แต่ว่าเคยเห็นเพื่อนที่มีปัญหาเดียวกันเค้าต้องผ่าขากรรไกรด้วย จึงอยากทราบว่าจัดฟันอย่างเดียวแล้วไม่ผ่าได้ไหม แล้วถ้าไม่ผ่าจะมีปัญหาอะไรตามมารึป่าวคะ? ใช้ระยะเวลาจัดฟันกี่ปีคะ?
ปัญหาฟันล่างครอบฟันบน อาจจะแก้ไขโดยจัดฟันอย่างเดียวหรือจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด แล้วแต่ความรุนแรงของปัญหา ซึ่งมีโอกาสที่จะจัดฟันโดยไม่ต้องผ่าตัดได้ ถ้าฟันล่างยื่นไม่มากและขากรรไกรบนเติบโตตามปกติค่ะ
การรักษาทั้งจัดฟันและผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี กรณีที่ประเมินตั้งแต่ต้นแล้ว ว่าต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัด ถ้าจัดฟันอย่างเดียวโดยไม่ผ่าตัดจะทำให้ฟันบน/ล่างสบกันได้ไม่พอดี เคี้ยวอาหารลำบาก ถ้าพยายามจัดฟันโดยฝืนโครงสร้างมากๆ อาจมีปัญหาเรื่องเหงือกร่นและฟันสบกระแทกกันบางจุดได้ค่ะ
อายุ 19 ปีค่ะ ฟันล่างคร่อมฟันบนแค่ 2 ซี่ จัดฟันไม่ผ่าตัดได้ไหม?
จัดได้และหมอคิดว่าน่าจะไม่ค่อยยากเท่าไรค่ะ แต่แผนการรักษาจะเป็นอย่างไรควรไปพบคุณหมอจัดฟันเพื่อตรวจให้ละเอียด แล้วลองสอบถามแนวทางการจัดฟันดูนะคะ
อายุ 14 ปี มีปัญหาฟันล่างคร่อมฟันบนนิดหน่อย และคางยื่น
คือตอนนี้หนูอายุ 14 ปีค่ะ ฟันล่างและฟันบนของหนูมันสบกันไม่พอดีค่ะ และมันมีปัญหาคางยื่นด้วยค่ะแต่ยื่นไม่มาก ฟันล่างครอบฟันบนนิดหน่อย ถ้าจัดฟันจะช่วยให้คางไม่ยื่นได้มั้ยคะ? และจะต้องผ่าตัดศัลยกรรมภายหลังหรือไม่? รบกวนด้วยนะคะ
คนไข้เพิ่งอายุ 14 ปี ยังอยู่ในช่วงที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตอีก ซึ่งส่วนขากรรไกรล่างจะมีการเจริญเติบโตในช่วงอายุนี้ การที่มีฟันบน/ล่างสบกันไม่พอดี จึงน่าห่วงอยู่บ้างค่ะ (ปกติฟันบนจะต้องครอบฟันล่างประมาณ 2 มิลลิเมตร)
ควรปรึกษาคุณหมอจัดฟันเพื่อตรวจและประเมินว่า ควรใช้เครื่องมือจัดฟันเพื่อช่วยในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของขากรรไกรบน หรือยับยั้งการเจริญเติบโตของขากรรไกรล่างหรือไม่ และอาจให้คนไข้ฝึกลิ้นเพราะคนไข้ที่มีขากรรไกรล่างยื่น มักเกี่ยวข้องกับตำแหน่ง/ขนาด/การทำงานของลิ้นด้วย
หากประเมินแล้วเห็นว่าการใช้เครื่องมือใดๆในช่วงนี้ไม่ค่อยมีประโยชน์นัก ก็จะบันทึกประวัติฟันของคนไข้/เอกซเรย์ และติดตามดูไปก่อนเป็นระยะๆ จนกว่าจะถึงช่วงที่ร่างกายเจริญเติบโตช้าลงหรือหยุดโตแล้ว (ให้วัดส่วนสูงจดไว้ทุกๆ 6 เดือนด้วยค่ะ) จึงจะพิจารณาการจัดฟันว่าจะจัดฟันอย่างเดียวหรือต้องจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดค่ะ
ฟันล่างคร่อมฟันบน ไม่จัดฟันจะเป็นผลเสียไหม?
ปัญหาที่ห่วงจะเกี่ยวกับการทำงานของข้อต่อขากรรไกรในระยะยาวที่อาจสึกหรือทำงานไม่ปกติ บางคนอาจมีขากรรไกรค้าง รวมถึงอาจทำให้มีปัญหาฟันหน้าบนสึกเนื่องจากการสบกระแทกฟันล่าง
ถ้าเป็นไปได้ก็ควรจัดฟันเพื่อแก้ไข หากไม่สะดวกที่จะจัดฟัน ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่แข็งเหนียวมากๆ หรืออาหารคำโตๆ เพื่อไม่ให้ข้อต่อขากรรไกรต้องใช้งานหนักเกินไปค่ะ
แต่อาการดังกล่าวมานี้ คนไข้หลายคนก็ไม่มีปัญหาอะไรมากนัก แม้จะไม่ได้จัดฟันค่ะ
ฟันปกติแต่คางยื่นมาก ทำยังไงดี?
อยากถามคุณหมอหน่อยค่ะ คือว่า ฟันก็ปกติฟันบนครอบฟันล่าง แต่คางยื่นออกมามาก มันเกิดจากอะไรค่ะ? แล้วต้องจัดฟันหรือผ่าตัดไหมค่ะ?
ถ้าฟันบนครอบฟันล่างเป็นปกติและสบกันได้ดี ไม่น่าจะต้องทำอะไรเกี่ยวกับฟันค่ะ
ส่วนคางยื่นแสดงว่าเป็นลักษณะโครงสร้างของขากรรไกรล่าง ถ้ายื่นมากจนดูไม่สวยงามอาจจะผ่าตัดเฉพาะส่วนปลายคาง ซึ่งจะไม่ใช่ผ่าตัดใหญ่เท่าการผ่าตัดขากรรไกร อย่างไรก็ตามต้องประเมินจากลักษณะการสบฟันและฟิล์มเอกซ์เรย์ประกอบว่าควรแก้อย่างไรมากน้อยเพียงไรค่ะ
จากการให้คำปรึกษาแบบสาธารณะ
ตอบคำถามโดย ทพญ.ขนิษฐา สุรางค์ศรีรัฐ