ฟลูออไรด์ (fluoride) คือ สารซึ่งนำมาใช้ประโยชน์ในการเสริมสร้างและสะสมแร่ธาตุที่ผิวเคลือบฟัน ช่วยให้ผิวเคลือบฟันมีความแข็งแรง ทนทานต่อการทำลายของกรดซึ่งเกิดจากจุลินทรีย์ในช่องปาก ในกรณีที่ผิวเคลือบฟันเริ่มถูกทำลาย ฟลูออไรด์ก็จะทำให้เกิดการยับยั้งการละลายตัวของแร่ธาตุ จึงช่วยป้องกันและชะลอการดำเนินของโรคฟันผุได้
เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางเป็นเวลานานแล้วว่า สารฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีการวิจัยและพัฒนานำฟลูออไรด์มาใช้ในรูปแบบต่างๆ แยกได้ 2 ประเภท คือ ชนิดใช้เคลือบบนผิวฟัน และชนิดรับประทาน
ประโยชน์ของฟลูออไรด์ในทางทันตกรรม
1. ฟลูออไรด์ชนิดเคลือบบนผิวฟัน
เป็นรูปแบบการใช้ฟลูออไรด์ที่สะดวกและมีประสิทธิ์ภาพ เนื่องจากกลไกป้องกันฟันผุจะเกิดขึ้นจากการที่สารฟลูออไรด์สัมผัสผิวเคลือบฟันโดยตรง ซึ่งมีทั้งชนิดที่ทันตแพทย์เป็นผู้ทำให้ (ฟลูออไรด์วานิช/ฟลูออไรด์เจล) และชนิดที่สามารถใช้ด้วยตนเองที่บ้าน
ทั้งนี้ การเคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์ มักเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีสารฟลูออไรด์ความเข้มข้นสูง จึงต้องใช้ด้วยความระมัดระวังโดยทันตบุคลากรเท่านั้น เพื่อป้องกันการเกิดพิษเนื่องจากการกลืนกินเข้าไปในปริมาณมาก
ฟลูออไรด์เจล
เป็นสารที่ใช้เคลือบป้องกันฟันผุในเด็กเล็ก ลักษณะเป็นเจลที่มีความหนืดเล็กน้อย และมีรสชาติที่เด็กยอมรับได้ง่าย ขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังไม่ให้เด็กกลืน ทันตแพทย์จึงต้องใช้เครื่องดูดน้ำลายตลอดเวลาในขณะทำหัตถการ ฟลูออไรด์เจลมีประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุได้ แต่กรณีที่ฟันผุแล้ว ไม่สามารถยับยั้งการลุกลามของฟันผุได้
การเคลือบฟลูออไรด์เจล ใช้เวลาไม่นาน และไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดใดๆ โดยทันตแพทย์จะทำความสะอาดฟันเด็กและใส่ฟลูออไรด์เจลในถาดโฟมที่มีขนาดพอดีกับฐานฟันของเด็ก แล้วครอบลงบน ฟันบน/ฟันล่าง ไว้ประมาณ 1-4 นาที เพื่อให้สารฟลูออไรด์แทรกซึมเข้าไปรวมตัวกับแร่ธาตุของผิวเคลือบฟัน
การที่มีสารฟลูออไรด์ในผิวเคลือบฟัน นอกจากจะทำให้เคลือบฟันแข็งแรงแล้ว ยังช่วยลดการเกาะติดของแผ่นคราบจุลินทรีย์ และยับยั้งการสร้างกรดของจุลินทรีย์บนผิวเคลือบฟัน จึงเหมาะที่จะนำเด็กที่มีฟันขึ้นแล้ว และสามารถจะร่วมมือได้ เข้ารับการเคลือบฟลูออไรด์ทุก 6 เดือน เพื่อช่วยป้องกันฟันผุ
ฟลูออไรด์วานิช
เป็นการใช้สารฟลูออไรด์ที่มีความเข้มข้นมากกว่า และมีความหนืดมากกว่าฟลูออไรด์เจล เพื่อให้ยึดเกาะกับผิวเคลือบฟันได้ดี และสารฟลูออไรด์สามารถแทรกซึมเข้าไปรวมตัวกับแร่ธาตุของผิวเคลือบฟันได้มากขึ้น การใช้ฟลูออไรด์วานิชสามารถยับยั้งการลุกลามของฟันที่เริ่มผุได้
ในการใช้ฟลูออไรด์วานิช ทันตแพทย์จะทาเคลือบบางๆบนผิวฟันที่เริ่มผุ ซึ่งอาจเกิดมีลักษณะเป็นฝ้าขาว และบริเวณที่จะเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุได้ง่าย ฟลูออไรด์วานิชเป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ใช้งานได้ง่าย แม้แต่เด็กเล็กที่ยังไม่สามารถร่วมมือดีนัก เนื่องจากไม่ต้องสวมถาดครอบฟันเหมือนการใช้ฟลูออไรด์เจล
ทันตแพทย์แนะนำให้ใช้ฟลูออไรด์วานิชทุก 6 เดือน ในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดฟันผุปานกลางถึงมาก ในทุกกลุ่มอายุ
ฟลูออไรด์ในยาสีฟัน
ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์สามารถให้ผลดีในการช่วยป้องกันฟันผุได้ ปัจจุบันทันตแพทย์จึงแนะนำให้ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ในทุกกลุ่มอายุ แต่มีข้อควรระวังเล็กน้อยโดยเฉพาะในเด็ก คือต้องระวังไม่ให้เด็กกลืนยาสีฟันบ่อยๆ เพราะอาจทำให้มีสารฟลูออไรด์เข้าสู่ร่างกายมากเกินไป ด้วยเหตุนี้ในเด็กผู้ปกครองจึงควรบีบยาสีฟันให้ใช้ในปริมาณที่เหมาะสมกับช่วงวัย
ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ สามารถใช้ได้ตั้งแต่ฟันซี่แรกของเด็กเริ่มขึ้น โดยใช้ในปริมาณที่เหมาะสมตามช่วงอายุ ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์โดยทั่วไปมีสารฟลูออไรด์ 500-1,000 ppm (500-1,000 ส่วนในล้านส่วน)
ปริมาณยาสีฟัน (ฟลูออไรด์ 1000 ppm) ที่แนะนำสำหรับเด็ก
- เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ใช้ยาสีฟันเพียงแตะพอเปียกขนแปรง หรือประมาณเท่าเมล็ดข้าวสาร
- เด็กอายุ 3-6 ปี ใช้ยาสีฟันประมาณขนาดเท่าเมล็ดถั่วลันเตา
- เด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ใช้ยาสีฟันประมาณขนาดเท่าเมล็ดถั่วแดง
ฟลูออไรด์ในน้ำยาอมบ้วนปาก
เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของผลิตภัณฑ์ป้องกันฟันผุที่ใช้ได้เองที่บ้าน โดยทั่วไปน้ำยาอมบ้วนปากผสมฟลูออไรด์จะมีสารฟลูออไรด์ประมาณ 200-300 ppm แนะนำให้อมหลังแปรงฟันก่อนนอน วันละครั้ง โดยใช้เวลาประมาณ 1-4 นาที แล้วบ้วนทิ้งโดยไม่ต้องบ้วนน้ำเปล่าตาม และงดทานอาหารและดื่มน้ำ 30 นาทีหลังใช้
สาระน่ารู้ : หมอฟันเด็ก ต่างจากหมอฟันทั่วไปอย่างไร?
2. ฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน
เป็นยาฟลูออไรด์ซึ่งมีทั้งชนิดเม็ดและชนิดน้ำผสมอยู่ในวิตามินรวมสำหรับเด็กเล็ก สารฟลูออไรด์ที่รับประทานเข้าไปจะแทรกซึมเข้าสู่กระแสเลือดและไปรวมตัวกับแร่ธาตุ แคลเซียม และฟอสฟอรัส ในบริเวณที่มีการสร้างกระดูกและฟัน จึงช่วยทำให้ฟันแข็งแรง ทนต่อการทำลายของกรดจากแบคทีเรียต่างๆในช่องปากได้ดี
อย่างไรก็ตาม เราอาจได้รับฟลูออไรด์จากอาหาร น้ำนม ผัก ผลไม้ อยู่บ้างแล้ว และในชุมชนบางพื้นที่ อาจมีฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม จึงควรระวังอย่ารับประทานฟลูออไรด์มากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดฟันตกกระ เป็นฝ้าขาว หรือรอยด่างๆสีน้ำตาลได้ แต่การเป็นพิษจากการใช้สารฟลูออไรด์นั้น หากปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์แล้ว จะไม่เกิดปัญหานี้
ขนาดรับประทาน (สำหรับกรณีไม่ได้รับฟลูออไรด์จากแหล่งอื่นๆ)
- อายุ 6 เดือน – 3 ปี ปริมาณที่แนะนำต่อวัน 0.25 mg
- อายุ 3 – 6 ปี ปริมาณที่แนะนำต่อวัน 0.50 mg
อาหารที่มีฟลูออไรด์มาก
ได้แก่ อาหารทะเล ข้าวต่างๆ ถั่วต่างๆ ข้าวโพด ผักใบเขียว กะหล่ำปลี มะเขือเทศ หัวหอม กระเทียม มันฝรั่ง แครอท เมล็ดทานตะวัน กล้วย แอปเปิล องุ่น เชอร์รี่ เนย ใข่ ชา การส่งเสริมให้เด็กๆ ชอบรับประทานผักผลไม้มากๆ นอกจากจะได้รับวิตามินและแร่ธาตุต่างๆที่มีประโยชน์แล้ว เส้นใยอาหารยังช่วยขัดให้ผิวฟันสะอาด ระบบย่อยอาหาร และการขับถ่ายทำงานเป็นปกติอีกด้วย
ฟลูออไรด์ทำให้ฟันตกกระ จริงหรือไม่?
การได้รับฟลูออไรด์มากเกินไปอย่างต่อเนื่อง ในเด็กอายุน้อยช่วงที่ร่างกายกำลังมีการสร้างฟันแท้ จะทำให้เกิดฟันตกกระได้ การให้ฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน จึงควรต้องทราบก่อนว่าเด็กได้รับจากทางอื่นแล้วหรือไม่ เช่น ได้รับจากที่ผสมอยู่ในวิตามินรวม, อยู่ในพื้นที่ที่มีฟลูออไรด์ในแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นต้น ซึ่งอาจไปเสริมให้ได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณมากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ฟันแท้ที่ขึ้น มีรอยตกกระได้
ความรุนแรงของฟันตกกระ มีตั้งแต่เป็นเพียงคราบขาวขุ่นบนผิวเคลือบฟัน หรือเป็นสีน้ำตาลบนผิวเคลือบฟันที่เรียบ ไปจนถึงมีผิวเคลือบฟันสีน้ำตาลและขรุขระ ทั้งนี้ การได้รับฟลูออไรด์จากอาหาร มักไม่มากจนทำให้เกิดปัญหา แต่การจะเสริมสารฟลูออไรด์ให้แก่เด็ก ควรได้รับคำแนะนำจากทันตแพทย์
สรุป
ฟลูออไรด์ เป็นสารที่ใช้ในการป้องกันฟันผุทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นหนึ่งในงานทันตกรรมป้องกันที่สำคัญ ซึ่งได้มีการศึกษาวิจัยถึงผลของฟลูออไรด์มานานแล้วทั้งได้ด้านประโยชน์และผลเสียที่อาจเกิดขึ้น
เนื่องจากการใช้ฟลูออไรด์มีรูปแบบผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งที่ใช้โดยทันตบุคลากร เช่น ฟลูออไรด์วานิชและฟลูออไรด์เจล และชนิดที่สามารถซื้อใช้ได้เองที่บ้าน ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงประโยชน์ในการป้องกันฟันผุและผลเสียหากได้รับฟลูออไรด์มากเกินไป จึงเป็นสิ่งสำคัญอยู่ไม่น้อย
ตรวจสอบบทความโดย
ทพญ. สุธาสินี เกตานนท์