การฟอกสีฟัน : in office bleaching / home bleaching

ระดับสีของฟัน

 

วิธีฟอกสีฟัน

          1.กรณีฟันสีเข้มทั้งปาก : หากไม่เข้มมาก คนไข้สามารถใช้น้ำยาฟอกสีฟันได้เองที่บ้าน โดยได้รับคำแนะนำ และการดูแลจากทันตแพทย์ หากสีฟันเข้มมาก ทันตแพทย์จะทำการฟอกสีฟันให้ขาวขึ้นพอสมควรภายในคลินิกก่อน โดยใช้น้ำยาที่มีความเข้มข้นมากกว่า และให้คนไข้ฟอกสีฟันต่อเองที่บ้าน

          2. กรณีฟันสีเข้มบางซี่ : พิจารณาใช้การฟอกสีฟัน การทำวีเนียร์ หรือการปิดทับผิวฟันด้วยวัสดุคอมโพสิต

 

ฟอกสีฟันแล้วฟันขาวขึ้นจริงหรือ… อยู่ได้นานไหม?

          โดยทั่วไปผลลัพธ์จะคงอยู่ได้ 1-5 ปี ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพช่องปาก และอุปนิสัยในการรับประทานอาหารที่มีสีเข้ม ในระยะ 2 สัปดาห์แรก หลังจากฟอกสีฟันอาจมีสีฟันคืนกลับได้บ้าง เนื่องจากการคืนกลับของสภาวะการสูญเสียน้ำในระหว่างการฟอกสีฟัน (dehydration) และอาจมีการคืนกลับของโครงสร้างที่ทำให้เกิดสีในตัวฟันทีละน้อยๆ แต่การคล้ำของสีฟันจะไม่กลับไปสู่ระดับเริ่มต้นก่อนการฟอกสีฟัน

          กรณีฟอกสีฟันในคลินิกแล้ว แนะนำให้ฟอกสีฟันที่บ้านซ้ำด้วย เพื่อคงสภาพความขาวอยู่ได้นานๆ

          แต่ละคนจะมีโทนสีของฟันต่างกัน แยกออกเป็น A, B, C, D ดังภาพ การฟอกสีฟันสามารถทำให้ฟันสีอ่อนลงได้อย่างน้อย 2 ระดับ ในโทนสีเดียวกัน

          อย่างไรก็ตาม การฟอกสีฟันไม่สามารถแก้ไขปัญหาสีฟันที่ผิดปกติบางประเภทเช่น ฟันตกกระที่เกิดจากผลข้างเคียงของยาประเภทเตตร้าไซคลีน และระดับของการเปลี่ยนของสีฟันจากการฟอกสีฟันนั้นจะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาตอบสนองของแต่ละบุคคล

 

ซื้อน้ำยาฟอกสีฟันมาใช้เองโดยไม่พบทันตแพทย์ จะได้ผลไหม ?

          ได้ผลบ้าง แต่การฟอกสีฟันเองนั้น ถาดฟอกสีฟันจะไม่ได้ทำมาพอดีกับลักษณะของฟันคนไข้แต่ละคน ทำให้สารที่ใช้ออกฤทธิ์ไม่ได้สัมผัสกับผิวฟันอย่างเหมาะสม ประสิทธิภาพจึงลดลง ฟันอาจขาวขึ้นเพียงบางซี่ ไม่สม่ำเสมอกัน ซึ่งในกรณีเช่นนี้เมื่อกลับมาพบทันตแพทย์ การแก้ไขปัญหาจะยากขึ้นกว่าเดิม

รวมถึงการที่สารฟอกสีฟันมักไหลออกจากถาด ทำให้ต้องใช้ปริมาณเปลืองมากขึ้นในแต่ละครั้งอีกด้วย

 

ฟอกสีฟันเองที่บ้าน

 

สีฟันที่เข้มกว่าปกติมีสาเหตุ ดังนี้

          1. สาเหตุภายในตัวฟัน
– อายุมากขึ้นสีเข้มขึ้น เนื่องจากมีการสร้างเนื้อฟันเข้าไปในตัวฟันทำให้ชั้นเนื้อฟันหนาขึ้น
– ความผิดปกติของการสร้างชั้นเนื้อฟัน หรือชั้นผิวเคลือบฟัน
– การได้รับยาเตตร้าไซคลินอย่างต่อเนื่องในช่วงพัฒนาการของฟัน
– การได้รับฟลูออไรด์ในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดฟันตกกระ
– ฟันตาย เนื่องจากฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน
– ฟันที่ได้รับอุบัติเหตุถูกกระแทกอย่างรุนแรง ทำให้มีเลือดออกภายในตัวฟัน
– ฟันที่รักษารากฟันอาจมีสีเข้มขึ้นเนื่องจากสีของวัสดุที่ใช้อุดภายในรากฟัน

          2. สาเหตุภายนอกตัวฟัน
– คราบหินปูน
– เครื่องดื่มและอาหารที่มีสีเข้ม เช่น ชา กาแฟ ยางผลไม้ คราบบุหรี่

ผลข้างเคียงที่อาจเกิด

          1. เสียวฟัน : เนื่องจากมีฟันผุ ฟันสึก หรือรอยอุดฟันมีการรั่วซึมตามขอบ หรือเนื่องจากเริ่มต้นใช้น้ำยาเข้มข้นมากเกินไป หรือฟอกนานเกินไป ดังนั้นการป้องกัน จึงต้องแน่ใจว่าได้อุดฟันที่ผุ สึก และแก้ไขวัสดุอุดที่เสื่อมสภาพให้ดีแล้ว และอาจพิจารณาลดความเข้มข้นของน้ำยาลง หรือใช้เวลาฟอกแต่ละวันน้อยลง หรือเว้นระยะออกไป ปกติอาการเสียวฟันจะค่อยๆหายไป ถ้าจำเป็นทันตแพทย์จะแนะนำให้คนไข้ใช้ยาสีฟันที่รักษาอาการเสียวฟัน หรือใช้น้ำยารักษาอาการเสียวฟันก็ได้

          2. ระคายเคืองเหงือก เหงือกร่น : เนื่องจากถาดฟอกสีฟันกดเหงือก น้ำยาเข้มข้นเกินไป หรือใช้น้ำยามากเกินไป จึงแนะนำให้คนไข้ได้รับการตรวจ และแนะนำจากทันตแพทย์ก่อน และในระหว่างการฟอกสีฟัน เพื่อให้การฟอกสีฟันขาวได้ผลดีและปลอดภัย

          3. ฟันแห้ง ผิวรากฟันละลายตัว : มักพบในกรณีฟอกสีฟันที่รักษารากฟัน เป็นผลจากการฟอกสีฟันโดยใช้ความร้อน (แบบเก่า) หรือมีการรั่วซึมของน้ำยาไปตามท่อในเนื้อฟัน ไปสู่รากฟัน ซึ่งปัญหานี้หากทำด้วยความถูกต้องระมัดระวัง ก็ไม่เป็นปัญหา และในปัจจุบัน การฟอกสีฟันมีการพัฒนาวัสดุ และวิธีการที่ดีขึ้น จึงทำให้โอกาสเกิดปัญหาเหล่านี้ลดลง

 

คำถามที่น่าสนใจ

ถ้าฟันขาวอยู่แล้ว และแปรงฟันอย่างสม่ำเสมอ สีฟันก็จะไม่คล้ำขึ้นใช่หรือไม่ ?
          การที่สีฟันคล้ำขึ้นเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีเข้มเป็นประจำ การแปรงฟันจะไม่สามารถกำจัดสารที่มีสีที่ติดบนผิวฟันได้หมด เพราะสารที่มีสีจะซึมผ่านเข้าไปในรูที่เล็กมากบนผิวฟัน ซึ่งขนแปรงไม่สามารถที่เข้าไปแปรงออกหมดได้ นอกจากนี้ยังมีสาเหตุภายในตัวฟัน เช่น อายุมากขึ้นมีการสร้างเนื้อฟันเข้าไปในตัวฟันให้หนาขึ้น สีฟันจึงเข้มขึ้น เป็นต้น

สารที่ใช้ในการฟอกสีฟัน อันตรายไหม ?
          สารฟอกสีฟันเป็นตัวที่จะเข้าไปสลายสารอินทรีย์ที่ทำให้เกิดสีในฟัน ซึ่งสารดังกล่าวไม่ใช่สารที่เป็นองค์ประกอบของตัวฟัน มีเฉพาะสีเท่านั้นที่ถูกกำจัดออกไป แต่ก็อาจมีผลข้างเคียงบ้างเช่น เสียวฟัน เจ็บเหงือก ซึ่งตามปกติมักหายไปในเวลาไม่นาน

การฟอกสีฟันทำให้ฟันบางลงจริงหรือ ?
          การฟอกสีฟันมีความปลอดภัยสูงมาก ถ้าทำถูกต้องตามคำแนะนำของทันตแพทย์และอยู่ในการดูแลของทันตแพทย์ จะไม่ทำให้ฟันบางลง

ยาสีฟันที่โฆษณาว่าทำให้ฟันขาวขึ้นจริงหรือไม่ ?
          ทำให้ฟันขาวขึ้นได้จริง ยาสีฟันประเภทนี้มักผสมผงขัด เมื่อแปรงฟันจึงสามารถขัดสีคล้ำที่ติดอยู่บนผิวฟันออกได้ ระดับของการขัดจะไม่ลงเข้าไปในผิวเคลือบฟัน เหมือนกับสารฟอกสีฟันที่ซึมเข้าไปในผิวเคลือบฟัน เพราะฉะนั้นการใช้ยาสีฟันที่มีผงขัดจึงทำให้ฟันขาวขึ้นได้เล็กน้อย แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาในผู้ป่วยที่มีสีฟันค่อนข้างคล้ำได้ และอาจทำให้ฟันบางลงได้ จึงเทียบกับการฟอกสีฟันไม่ได้

ฟอกสีฟันแล้วรู้สึกว่าเหงือกเป็นแผล
          เนื่องจากสารฟอกสีฟันส่วนใหญ่มีสภาพเป็นกรดเล็กน้อย ในคนไข้ที่ใส่ตัวยาลงในถาดฟอกมากเกินไป หรือฟอกเสร็จแล้วไม่ได้ล้างตัวยาออกให้สะอาด อาจรู้สึกว่าบริเวณขอบเหงือกโดนกัด ทำให้เหงือกอักเสบ หรือเสียวฟันได้บ้าง แต่จะเป็นเพียงชั่วคราวเท่านั้น

สีของฟันโดยธรรมชาติเป็นอย่างไร ?
          ส่วนใหญ่ฟันคนเราจะมีสีอยู่ในโทนของสีเหลือง มีความสว่างของสีค่อนข้างมาก นอกจากนี้ในฟัน 1 ซี่ ก็จะมีมิติของสีแตกต่างไปในแต่ละบริเวณ เช่น คอฟันมีความเข้มของสีมากกว่าปลายฟัน นี้เป็นลักษณะของสีฟันตามธรรมชาติ

บทความที่เกี่ยวข้อง

slogan_sktdental