ฟันผุ มีสาเหตุมาจากเชื้อจุลินทรีย์ในช่องปาก ที่ดำรงชีพอยู่ด้วยการย่อยสลายคราบอาหารตกค้างระหว่างซอกฟัน แล้วทำให้เกิดกรดซึ่งมีฤทธ์ในการทำลายผิวเคลือบฟัน โดยกระบวนการเกิดกรดจากการย่อยสลายสารอาหารของจุลินทรีย์นี้ หากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้ผิวเคลือบฟันถูกทำลายมากขึ้นๆ จนเกิดเป็นรอยฟันผุได้
ฟันผุสามารถลุกลามติดต่อไปฟันซี่อื่น ได้ไหม?
คราบจุลินทรีย์ที่สะสมอยู่จะทำให้เกิด ฟันผุ เฉพาะที่ตำแหน่งนั้นๆ ไม่ลุกลามติดต่อไปซื่อื่นๆ แต่ในกรณีที่คราบจุลินทรีย์สะสมระหว่างซอกฟันสองซี่ มักจะทำให้เกิดฟันผุที่ด้านประชิดกันของฟันคู่นั้น จึงทำให้มีลักษณะเหมือนเป็นฟันผุลุกลามต่อเนื่องถึงกัน ทั้งที่ความจริงแล้ว การถูกทำลายของผิวเคลือบฟันจนฟันผุนั้น เป็นอุบัติการที่เกิดเฉพาะแต่ละซี่ตามสภาพในช่องปาก
ป้องกันฟันผุได้อย่างไร
1. แปรงฟันอย่างถูกวิธี
ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ อย่างน้อย 2 นาทีขึ้นไป วันละ 2 ครั้ง เช้าและก่อนนอน เน้นว่าห้ามลืมแปรงฟันก่อนนอน เนื่องจากเวลานอนหลับต่อมน้ำลายจะหลั่งน้ำลายออกมาน้อยลง ทำให้คราบจุลินทรีย์ก่อตัวสะสมที่ผิวฟันได้ง่ายขึ้น เป็นช่วงที่จะเกิดฟันผุได้มากที่สุด
2. ใช้ไหมขัดฟัน / แปรงซอกฟัน
เพื่อทำความสะอาดเศษอาหารที่ติดอยู่ในบริเวณที่การแปรงฟันเข้าไม่ถึง
3. ใช้ฟลูออไรด์ช่วยป้องกันฟันผุ
ฟลูออไรด์ทำให้ผิวเคลือบฟันมีความต้านทานต่อกรดมากขึ้น ซึ่งทำได้โดยการเคลือบฟลูออไรด์โดยทันตแพทย์, ใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์, ฟลูออไรด์ชนิดรับประทาน (ในปริมาณที่เหมาะสม)
4. การเคลือบหลุมร่องฟัน (Dental sealant)
ด้านบดเคี้ยวของฟันจะมีหลุมและร่องฟัน เราสามารถทำให้หลุมร่องฟันเหล่านี้ตื้นขึ้น เพื่อให้การแปรงฟันทำความสะอาดได้ง่ายขึ้น เศษอาหารและคราบจุลินทรีย์ติดอยู่บนตัวฟันได้ยากขึ้น โดยใช้สารเคลือบร่องฟันซึ่งเป็นวัสดุประเภทสารโพลิเมอร์โดยทาไปบนผิวฟันที่ขรุขระ ซึ่งมักเป็นด้านบดเคี้ยวของฟันกราม
ทันตแพทย์มักแนะนำให้ทำการเคลือบหลุมร่องฟันในเด็กที่ฟันแท้ขึ้นใหม่ๆ หรือในผู้ใหญ่ที่อายุน้อยๆก็สามารถเคลือบหลุมร่องฟันที่ยังไม่ผุได้
5. พบทันตแพทย์ทุก 6 เดือน
การดูแลสุขภาพฟันด้วยตนเองอย่างถูกวิธี ตรวจฟันสม่ำเสมอทุก 6 เดือน หรืออย่างน้อยปีละครั้ง อุดฟันตั้งแต่ที่รอยผุยังมีขนาดเล็ก จะช่วยลดโอกาสเกิดฟันผุที่ลุกลามเข้าไปถึงโพรงประสาทฟัน จนต้องรักษารากฟัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง หรือในบางกรณีอาจถึงขั้นสูญเสียฟันได้