การผ่าตัดฟันฝัง และการจัดฟันดึงฟันฝัง

ฟันฝัง คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นมาในช่องปากได้ปกติ โดยยังฝังอยู่ในกระดูกขากรรไกรทั้งซี่ ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุหลายประการ ดังนี้

  • หน่อฟันอยู่ผิดตำแหน่ง
  • หน่อฟันเอียงกว่าปกติ ทำให้ฟันขึ้นมาชนรากฟันซี่อื่น
  • ฟันแท้ไม่มีที่ขึ้น เนื่องจากถูกถอนฟันน้ำนมบางซี่ไปเร็วกว่ากำหนด ทำให้ฟันแท้ซี่ที่ขึ้นก่อน เคลื่อนมาปิดช่องว่าง
  • เนื้อเยื่อของรากฟันฝังมีการยึดติดกับกระดูกขากรรไกร (ankylosis)
  • ฯลฯ

ฟันฝัง

ภาพถ่าย x-ray แสดงฟันฝังในขากรรไกรล่างบริเวณคาง

 

ฟันฝังอันตรายไหม ต้องถอน/ผ่าออกไหม?

ฟันที่ฝังในกระดูกขากรรไกร มีโอกาสทำให้ฟันหรือกระดูกที่อยู่รอบข้างของฟันฝังนั้นได้รับผลกระทบ เช่น ฟันฝังอาจเบียดรากฟันข้างเคียงให้เคลื่อนไปจากตำแหน่งปกติ หรืออาจทำให้รากฟันละลายตัวไปบางส่วน

บางกรณีฟันฝังอาจเกิดพร้อมกับมีถุงน้ำหุ้มรอบฟันฝัง ซึ่งจะทำให้มีการทำลายกระดูกบริเวณนั้น และอาจมีอาการปวดร้าวบริเวณนั้น หรือใบหน้า/ศีรษะด้านนั้นก็ได้

ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ผ่าตัดฟันฝังออก หรือดึงขึ้นมาด้วยการจัดฟัน (ในกรณีที่ตำแหน่งเหมาะสมที่จะเคลื่อนฟันได้)

แต่ก็มีบางกรณีที่ฟันฝังอยู่ในตำแหน่งลึกมาก ไม่มีผลกระทบกับฟันข้างเคียง คนไข้ไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เอกซเรย์ไม่พบพยาธิสภาพรอบๆฟันฝัง แต่การผ่าตัดฟันฝังในตำแหน่งนั้นอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ อาจจะยังไม่ต้องผ่าตัดฟันซี่นั้นออกก็ได้ แต่ควรเอกซเรย์ตรวจเป็นระยะๆ

 

การจัดฟันดึงฟันฝัง

จัดฟันดึงฟันฝัง

กรณีที่คนไข้มีฟันบางซี่ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ปกติ อาจจะเพราะมีฟันซ้อนเกมากจนไม่มีที่ขึ้น หน่อฟันอยู่ผิดที่หรือเอียงมากจนชนฟันข้างเคียง

หากทันตแพทย์จัดฟันพิจารณาแล้ว ว่าทิศทางการขึ้นและความเอียงของฟัน อยู่ในวิสัยที่สามารถจัดฟันดึงฟันฝังขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งปกติได้ ก็จะวางแผนการจัดฟันเพื่อเปิดช่องว่างสำหรับฟันฝังซี่นั้น

โดยทำการผ่าตัดติดเครื่องมือจัดฟันบนฟันฝัง และใช้เทคนิคการจัดฟันค่อยๆกระตุ้นให้ฟันฝังนั้นเคลื่อนที่ลงมาในช่องว่างที่ต้องการ เมื่อฟันขึ้นมาได้แล้วจึงจัดฟันให้ได้ตำแหน่งการสบฟันที่ดีและสวยงาม

บทความที่เกี่ยวข้อง

slogan_sktdental