นอนกัดฟัน คือ อาการกัดเน้นฟัน เคี้ยวฟัน โดยไม่รู้ตัวในขณะที่นอนหลับอยู่ โดยมักจะเกิดขึ้นไม่กี่วินาทีแล้วกลับสู่สภาพปกติ เป็นอาการที่พบได้บ่อยซึ่งถ้าไม่เกิดขึ้นมากไป ก็จะไม่เป็นปัญหาที่ต้องรักษา แต่หากเป็นมากและรุนแรง ไม่ควรปล่อยให้เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนาน เพราะอาจนำมาซึ่งปัญหาใหญ่ของฟันและข้อต่อขากรรไกรที่แก้ไขได้ยากกว่าในอนาคต
วิธีแก้ปัญหาการนอนกัดฟัน
ปัจจุบันจึงยังไม่มีวิธีแก้ไขหรือรักษาอาการนอนกัดฟันให้หายขาด จึงใช้วิธีการป้องกันไม่ให้การนอนกัดฟันส่งผลเสียต่อตัวฟันและข้อต่อขากรรไกร ซึ่งวิธีที่ได้ผลดี คือ ทำเฝือกสบฟัน เพื่อช่วยกระจายแรงสบฟันให้สม่ำเสมอทั้งปาก ป้องกันปัญหาฟันสึกและช่วยให้กล้ามเนื้อข้อต่อขากรรไกรอยู่ในภาวะที่สมดุลขณะนอนหลับ
ผลเสียที่เกิดขึ้นจากการนอนกัดฟัน
- ฟันสึก : ในระยะเริ่มต้นจะมีการสึกไม่มาก แต่หากปัญหาเกิดเป็นระยะเวลานาน ฟันอาจสึกมากจนผิวเคลือบฟันหายไป ทำให้มีการเสียวฟัน ถ้าฟันสึกจนฟันเตี้ยลงไปมาก ความแข็งแรงของตัวฟัน และความสามารถในการบดเคี้ยวอาหารก็จะลดลง
- ฟันร้าว : ในบางกรณีถ้านอนกัดฟันแรงมาก อาจจะทำให้ตัวฟันรับแรงไม่ไหวจนเกิดรอยร้าว จนนำไปสู่การอักเสบติดเชื้อในโพรงประสาทฟัน เป็นหนองที่ปลายรากฟัน และต้องรักษารากฟัน
- ปวดกล้ามเนื้อบดเคี้ยว หรือปวดข้อต่อขากรรไกร : การนอนกัดฟัน อาจทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบดเคี้ยว หรือปัญหาของข้อต่อขากรรไกรได้
โดยผู้ที่มีการนอนกัดฟันบ่อยๆ ถึงแม้จะยังไม่มีอาการปวดข้อต่อขากรรไกรหรือเสียวฟัน ก็ควรที่จะใส่เฝือกสบฟัน เนื่องจากข้อเสียของการนอนกัดฟัน โดยเฉพาะปัญหาฟันสึกจะยังไม่เห็นผลชัดเจนแต่จะสะสมไปเรื่อยๆ และมักส่งผลกับฟันหลายซี่พร้อมๆกัน การป้องกันจึงได้ผลดีและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการแก้ไขปัญหาในภายหลัง
ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม : เผือกสบฟัน ราคา
สาเหตุของการนอนกัดฟัน
- สภาพจิตใจ : ในบางคนความเครียดสามารถส่งผลไปแสดงออกต่อการทำงานของร่างกาย เช่น การนอนกัดฟัน เครียดลงกระเพาะก็เกิดปวดท้อง บางคนเครียดแล้วความดันขึ้น เป็นต้น
- การสบฟันผิดปกติ : คือมีจุดสะดุดในขณะสบฟัน ทำให้ขากรรไกรเยื้องหลบจุดสะดุด และเกิดการเคี้ยวฟันในขณะหลับเพื่อกำจัดจุดสบฟันที่สะดุด
- การนอนหลับไม่สนิท การนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับ เหล่านี้มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการนอนกัดฟันได้
- การรับประทานยาที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง
- ความผิดปกติบางอย่างของการทำงานของร่างกายเอง