ฟันปลอมแบบติดแน่น คือ ฟันปลอมที่อาศัยการยึดติดกับฟันธรรมชาติข้างเคียง เช่น ครอบฟัน สะพานฟัน วีเนียร์ รวมถึงการฝังรากฟันเทียมลงในขากรรไกรบริเวณที่ต้องการใส่ฟันปลอม
ฟันปลอมแบบติดแน่นมี ข้อดี คือ ในการใช้งานคนไข้จะรู้สึกสะดวกสบายมากกว่าฟันปลอมแบบถอดได้ ไม่มีส่วนโครง ฐาน หรือตะขอฟันปลอม และสามารถใช้งานบดเคี้ยวได้อย่างเป็นธรรมชาติ
แต่ก็มี ข้อเสีย คือ ราคาที่แพงกว่า และคนไข้จำเป็นต้องมีความเข้าใจในการดูแลทำความสะอาดฟันปลอมแบบติดแน่นแต่ละชนิดอย่างเหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้งานไปได้อย่างยาวนาน
สะพานฟัน คือ การใส่ฟันปลอมแบบติดแน่นวิธีหนึ่ง โดยใช้ฟันธรรมชาติที่อยู่ด้านหน้าและด้านหลังของช่องว่างที่ถูกถอนไปเป็นหลักยึด ทันตแพทย์จะกรอฟันที่เป็นหลักยึดให้มีขนาดพอเหมาะ แล้วทำฟันครอบตั้งแต่ฟันหลักยึดซี่แรก+ฟันที่ใส่ในช่องว่าง+ฟันหลักยึดซี่สุดท้าย ติดเป็นชิ้นเดียวกัน
- ข้อดี คือ คนไข้จะรู้สึกสบาย ไม่รำคาญ ใช้งานได้ดี ทำความสะอาดเช่นเดียวกับการแปรงฟันตามธรรมชาติ และเพิ่มการใช้ไหมขัดฟันบริเวณใต้สะพานฟัน
- ข้อเสีย คือ ต้องกรอฟันธรรมชาติที่ใช้เป็นหลักยึด และถ้าทำความสะอาดไม่ดีพอ อาจเกิดฟันผุตามขอบฟันครอบได้
สะพานฟัน ราคา
ค่าใช้จ่ายในการทำสะพานฟัน จะคิดจาก (จำนวนซี่ฟันที่ต้องการใส่ + จำนวนฟันหลักยึด) x ค่าใช้จ่ายต่อการทำฟันครอบหนึ่งซี่ เช่น กรณีที่ทำสะพานฟัน 3 ซี่ ราคาสะพานฟันจะเท่ากับราคาทำฟันครอบ 3 ซี่นั่นเอง
- ครอบฟันโลหะ non-precious ราคาซี่ละ 9,500
- ครอบฟันโลหะมีค่า (palladium, semi-precious, high-precious) ราคาซี่ละ 9,500+ค่าโลหะ
- ครอบฟันเซรามิกล้วน (zirconia, e-max) ราคาซี่ละ 14,000
- ครอบฟันชั่วคราว ซี่ละ 1,000
สะพานฟันอยู่ได้กี่ปี?
สะพานฟันก็เช่นเดียวกับฟันปลอมแบบติดแน่นวิธีอื่นๆ เช่น ฟันครอบซี่เดียว รากฟันเทียม เป็นต้น ซึ่งสามารถมีอายุใช้งานได้นานนับสิบๆปี ถ้าได้กำจัดพยาธิสภาพใดๆของฟันให้เรียบร้อย ใช้วัสดุเสริมความแข็งแรงอย่างถูกต้อง ออกแบบสะพานฟันให้ฟันหลักยึดเป็นฟันที่แข็งแรงเพียงพอต่อการรองรับสะพานฟันนั้นๆ ร่วมกับการดูแลรักษาความสะอาดอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ
เงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการบูรณะด้วยสะพานฟัน
กรณีที่มีการสูญเสียฟันธรรมชาติไปบางซี่ โดยยังคงมีฟันด้านหน้าและด้านหลังของช่องว่างอยู่ หากคนไข้ไม่ต้องการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ ก็สามารถทำฟันปลอมแบบติดแน่นได้ 2 วิธี คือ สะพานฟัน หรือ รากฟันเทียม
โดยหากฟันที่อยู่ด้านหน้าและหลังของช่องว่างที่ต้องการใส่ฟัน เป็นฟันที่ต้องบูรณะด้วยการทำครอบฟันอยู่แล้ว ก็เป็นเงื่อนไขที่เหมาะสมสำหรับการทำสะพานฟันในตำแหน่งนั้น เพราะจะเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการครอบฟันเฉพาะซี่ฟันซี่กลางที่ใส่ ซึ่งถูกกว่าการทำรากฟันเทียมค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม การทำสะพานฟันนั้น ถ้าคนไข้ดูแลความสะอาดไม่เพียงพอ มีฟันผุหรือเกิดการรั่วซึมที่ขอบฟันซี่ใดซี่หนึ่ง การแก้ไขคือต้องรื้อสะพานฟันทำใหม่ทั้งชุด แต่ถ้าทำเป็นฟันครอบแต่ละซี่ และทำรากฟันเทียมในตำแหน่งที่ต้องใส่ฟัน หากเกิดปัญหาที่ซี่ใดซี่หนึ่ง การแก้ไขก็จะรื้อทำใหม่เฉพาะซี่ที่เป็นปัญหา
ทำสะพานฟัน 4 ซี่ / 2 ซี่ ได้ไหม?
สะพานฟัน 4 ซี่ จะทำได้ในกรณีที่ฟันหลักยึดแข็งแรงทั้ง 2 ซี่เท่านั้น เช่น ฟันกราม/ฟันเขี้ยว/ฟันกรามน้อย กรณีสูญเสียฟันหน้า 2 ซี่ ไม่ควรใช้ฟันหน้าด้านข้างเป็นหลักยึดเพื่อทำสะพานฟัน 4 ซี่ เพราะรากฟันหน้าซี่ข้าง มักจะเล็กและสั้น ไม่แข็งแรงพอจะรองรับสะพานฟัน 4 ซี่ให้แข็งแรงได้ อาจจะเกิดปัญหาฟันโยกในอนาคต
สะพานฟัน 2 ซี่ โดยทั่วไปไม่แนะนำให้ทำ เพราะจะมีฟันหลักยึดเพียงซี่เดียวสำหรับรองรับการใช้งานของฟัน 2 ซี่ เมื่อใช้งานไปจะทำให้ฟันหลักยึดโยกและล้มเอียง มีบางกรณีที่พอจะทำได้บ้าง เช่น กรณีช่องว่างที่ต้องการใส่ฟันแคบ มีฟันหลักยึดที่รากฟันแข็งแรง และอยู่ในตำแหน่งที่รับแรงบดเคี้ยวไม่มาก เช่น ใส่ฟันหน้าซี่ข้าง 1 ซี่ โดยใช้ฟันเขี้ยวเป็นหลักยึด