7 สาเหตุ เหงือกบวม วิธีรักษาและคำแนะนำเบื้องต้น

สาเหตุของการเกิดเหงือกบวม เหงือกอักเสบ มีหลายอย่าง ลักษณะอาการก็แตกต่างกัน การทำความเข้าใจปัญหาเหงือกบวมที่เกิดขึ้น ว่าเกิดจากสาเหตุใดจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อที่จะสามารถแก้ไขได้อย่างตรงจุด

ตัวอย่างเช่น โดยปกติปัญหามักเกิดขึ้นจากดูแลสุขภาพช่องปากไม่ดีเป็นเวลายาวนานทำให้มีหินปูนสะสมในตำแหน่งฟันหน้า ฟันกราม หรือทั่วทั้งปาก แต่หากเหงือกบวมเฉพาะในตำแหน่งฟันกรามซี่ในสุดโดยมากก็จะเกี่ยวข้องกับฟันคุด เป็นต้น

โรคเหงือกเป็นปัญหาที่ต้องใส่ใจเท่าๆกับฟันผุ เพราะถ้าปล่อยให้เป็นเรื้อรังนานๆ อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การสูญเสียฟันได้

อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้เพียงแต่อธิบายอย่างคร่าวๆและแนะนำข้อควรปฏิบัติในเบื้องต้นเท่านั้น กรณีที่เป็นปัญหาเร่งด่วนหรือรุนแรง คนไข้ควรเข้ารับการรักษาจากทันตแพทย์โดยตรง

 

1. เหงือกบวมจากหินปูนสะสมใต้ร่องเหงือก

หินปูนและคราบอาหาร เป็นสาเหตุของเหงือกบวม เหงือกอักเสบที่พบบ่อยที่สุด ในระยะเริ่มแรกอาจจะเพียงขอบเหงือกเป็นสีแดงๆ มีเลือดออกง่ายเวลาแปรงฟัน หากการอักเสบลุกลามมากขึ้น เหงือกจะบวม มีสีแดงคล้ำขึ้น

ถ้าไม่ได้รับการรักษาจนมีการอักเสบเรื้อรัง จะทำให้กระดูกหุ้มรากฟันถูกทำลาย จึงทำให้ฟันโยก เหงือกเป็นหนอง มีกลิ่นปาก เรียกว่าเป็น โรคปริทันต์ หรือรำมะนาด หากลุกลามถึงขั้นนี้ก็จะเป็นสาเหตุของการสูญเสียฟันในอนาคตได้ ซึ่งอาจเป็นเฉพาะบางตำแหน่งฟันหน้า ฟันกราม หรือเป็นทั่วๆไปทั้งปากก็ได้

วิธีรักษา : ระยะแรกจะรักษาได้ไม่ยากโดยการเข้าพบทันตแพทย์ เพื่อขูดหินปูนและขัดฟันทำความสะอาดทั้งปาก แต่หากอยู่ในระยะที่เรื้อรัง มีหินปูนสะสมอยู่ใต้เหงือกบริเวณรากฟันเป็นจำนวนมาก และอยู่ในตำแหน่งที่ลึก ทันตแพทย์ต้องใช้วิธีเกลารากฟันร่วมกับการขูดหินปูน หากการอักเสบเรื้อรังและรุนแรงจนมีการละลายตัวของกระดูกรอบรากฟันบางส่วน ทันตแพทย์อาจต้องใช้วิธีผ่าตัดเหงือกเพื่อแก้ไขแล้วแต่กรณี

 

2. เหงือกบวมเนื่องจากฟันกรามซี่ในสุดกำลังขึ้น

ที่พบบ่อยคือฟันกรามด้านล่างซี่ในสุด ซึ่งจะขึ้นในช่วงอายุ 17-20 กว่าปี หลายครั้งมักพบว่าฟันซี่นี้ขึ้นได้ไม่ค่อยเต็มซี่ เนื่องจากไม่มีที่พอ หรือฟันขึ้นเอียงชนฟันซี่ถัดมา

ในระยะที่ฟันกำลังขึ้นจะมีเหงือกคลุมฟันบางส่วนซึ่งมักมีเศษอาหารไปกักอยู่ใต้เหงือก ทำความสะอาดยาก จึงเกิดการอักเสบและบวมได้ ยิ่งมีฟันตรงข้ามสบลงมาในขณะบดเคี้ยว จะยิ่งทำให้เหงือกบวม เหงือกอักเสบมากขึ้น

วิธีรักษา : แนะนำให้คนไข้พยายามแปรงบนหน้าฟันที่เริ่มโผล่ขึ้นมาให้สะอาด โดยปกติเหงือกบริเวณนี้จะคลุมฟันอยู่เฉยๆ ไม่ยึดติดกับผิวฟัน สามารถใช้แปรงสีฟันเล็กๆแปรงได้ อาจใช้แปรงเด็กหรือแปรงสีฟันแบบขนแปรงกระจุกเดียว (end tuft) แปรงให้สะอาด

หากเป็นระยะที่เหงือกบวม เหงือกอักเสบมากแล้ว ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อทำความสะอาด ล้างเศษอาหารใต้เหงือกบริเวณที่ฟันขึ้น เหงือกจะหายอักเสบเร็วขึ้น บางกรณีอาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะร่วมด้วย

ควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจประเมิน หากฟันซี่นั้นอยู่ในลักษณะที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ปกติก็ควรถอนออก (ถอนฟันคุด/ผ่าฟันคุด)  มิฉะนั้นจะเกิดปัญหาเดิมซ้ำๆ

 

3. เหงือกเป็นหนองเนื่องจากฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน

กรณีที่มีฟันผุลึกมากจนลุกลามถึงโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดการอักเสบที่ปลายรากฟัน รายที่มีการอักเสบเรื้อรังนานๆ จะเกิดเป็นถุงหนองที่ปลายราก และอาจมีเหงือกบวมปูดหรือมีตุ่มหนองขึ้นมาตรงตำแหน่งปลายรากฟัน หรือตำแหน่งใกล้เคียง

วิธีรักษา : ใช้วิธีการรักษารากฟัน เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่ปลายรากฟัน และทำความสะอาดภายในคลองรากฟัน จากนั้นจึงอุดคลองรากฟันให้สนิท และบูรณะตัวฟันด้วยการอุดฟันหรือทำฟันครอบต่อไป

 

4. เหงือกบวมจากผลข้างเคียงของยาบางชนิด

ยาบางชนิดเป็นสาเหตุของเหงือกบวมได้ เช่น ยากันชัก จะพบลักษณะของเหงือกบวมเป็นกระเปาะ

วิธีรักษา : โดยการปรึกษาแพทย์ผู้รักษาโรคประจำตัวของคนไข้เพื่อปรับยา รวมถึงเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูนทุก 6 เดือน

 

5. การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน

ในภาวะที่ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง เช่น สตรีที่กำลังตั้งครรภ์ ระดับฮอร์โมนของร่างกายจะเพิ่มสูงขึ้น อาจพบว่ามีเหงือกอักเสบได้ง่ายกว่าคนปกติ ยิ่งถ้ามีสาเหตุคือคราบหินปูนในช่องปากอยู่แล้ว ยิ่งจะทำให้เกิดเหงือกบวมแดง เหงือกอักเสบได้มากกว่าช่วงปกติ

วิธีรักษา : แนะนำให้ขูดหินปูนทำความสะอาดฟันตั้งแต่ระยะแรกๆที่ยังไม่เกิดปัญหา เพราะหากมีการอักเสบในช่วงระยะครรภ์ใกล้คลอด อาจจะทำฟันลำบาก และอาจมีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยวอาหาร ทำให้มารดาและทารก ได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน

 

6. เหงือกบวมในผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน

ผู้ที่เป็นโรคเบาหวาน มักมีอาการปากแห้ง น้ำลายน้อย ทำให้เกิดคราบอาหารและเชื้อจุลินทรีย์สะสมตามคอฟันได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดหินปูนและเหงือกอักเสบได้ง่ายกว่าปกติ ซึ่งถ้าดูแลสุขภาพช่องปากและฟันไม่ดี ก็จะเป็นโรคเหงือกและโรคปริทันต์อักเสบได้ง่ายกว่าคนทั่วไป รวมถึงการหายของแผลก็จะช้ากว่าปกติด้วย

ดังนั้น ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานนอกจากจะต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ดีแล้ว ยังจำเป็นต้องดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีเป็นพิเศษด้วย

 

7. เหงือกบวมจากปัญหาปลีกย่อยอื่นๆ

บางครั้งอาจเป็นไปได้ว่าปัญหาเกิดขึ้นเพราะแผลร้อนใน ซึ่งพบได้ตามเหงือกและเยื่อบุช่องปาก หรือใช้แปรงสีฟันที่ขนแปรงหมดสภาพแล้ว ทำให้ขนแปรงระคายเหงือกจนเป็นแผล

วิธีรักษา : กรณีเช่นนี้มักจะหายเองได้ใน 7-10 วัน การดื่มน้ำสะอาดมากๆ อมน้ำเกลืออุ่นๆ หรือน้ำยาบ้วนปากสูตรรักษาโรคเหงือกตอนเช้าและก่อนนอน รวมทั้งเปลี่ยนแปรงสีฟันที่หมดสภาพ จะช่วยให้อาการดีขึ้น และหายเป็นปกติได้

คำถามที่น่าสนใจ

เหงือกบวม

มีอาการเหงือกบวม กินยาอะไรดี?

อาการเหงือกบวมควรไปพบทันตแพทย์เพื่อรักษาต้นเหตุที่ทำให้เกิดการบวม การซื้อยามาทานเอง ช่วยบรรเทาอาการได้ชั่วคราว เช่น ถ้าปัญหาเกิดจากการอักเสบจำพวกยาแก้อักเสบอาจช่วยได้บ้าง แต่ถ้าสาเหตุยังคงอยู่ก็จะเกิดปัญหาเดิมซ้ำอีก เพราะฉะนั้นจึงควรเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย และกำจัดสิ่งที่เป็นสาเหตุของอาการ หากปล่อยเรื้อรังนานเกินไปอาจทำให้ปัญหาลุกลามจนต้องสูญเสียฟัน หรือเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆได้ค่ะ

 

โรคเหงือกอักเสบรักษากี่อาทิตย์หายครับ?

โดยทั่วไปการรักษาโรคเหงือกอักเสบ เริ่มจากการกำจัดสาเหตุและปัจจัยเสริมที่ทำให้เกิดโรค เช่น การขูดหินน้ำลาย การกำจัดคราบจุลินทรีย์ ถ้ากำจัดสาเหตุได้หมดและผู้ป่วยดูแลสุขภาพอนามัยช่องปากได้ดี ไม่มีคราบจุลินทรีย์มาสะสมเพิ่ม โรคเหงือกอักเสบที่มีการอักเสบเพียงเล็กน้อยก็สามารถหายได้ภายใน 1-2 สัปดาห์

แต่ถ้าเป็นโรคเหงือกอักเสบขั้นปานกลาง ก็จะหายได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ ส่วนโรคเหงือกอักเสบขั้นรุนแรง จะใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 4 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการรักษาของผู้ป่วยแต่ละคนครับ

 

เหงือกบวม มีก้อนหนองตรงฟันที่ผุ พอมีวิธีรักษาไหมครับ?

การที่มีเหงือกบวมเป็นหนองตรงตำแหน่งฟันที่ผุพอดี น่าจะเป็นเพราะฟันผุทะลุโพรงประสาทฟัน และรากฟันตาย คงจะเรื้อรังมานานจึงเป็นหนองที่ปลายรากฟันค่ะ

ถ้าเนื้อฟันที่เหลือยังมาพอควรจะรักษารากฟัน หลังการรักษารากฟันแล้วทันตแพทย์จะพิจารณาว่าจะอุดฟันได้ไหม ถ้ารอยผุกว้างและเหลือเนื้อฟันน้อยก็คงต้องใส่เดือยละทำฟันครอบ (ซึ่งค่าใช้จ่ายสูงกว่าอุดฟัน) ก็จะเก็บฟันไว้ใช้งานได้ต่อไป

แต่ถ้าหากฟันผุจนสูญเสียเนื้อฟันไปมากเกินกว่าจะบูรณะได้ หรือไม่คุ้มที่จะบูรณะ ก็ควรถอนฟันออก เพื่อกำจัดเชื้อโรคและสาเหตุของการอักเสบค่ะ

 

เหมือนเหงือกบวมงอกขึ้นมาตรงฟันกราม ทำยังไงดีคะ?

น่าจะเป็นเพราะฟันกรามซี่นั้นผุกว้างมากและลึกถึงโพรงประสาทฟัน มานานแล้ว ทำให้เนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟัน ปูดขึ้นมาในโพรงฟัน ฟันเช่นนี้ถ้าสภาพฟันโดยรวมยังเหลือเนื้อฟันแข็งแรง ก็จะรักษารากฟันและบูรณะให้ใช้งานได้ค่ะ แต่ถ้าฟันผุมากจนเหลือเนื้อฟันน้อยจนไม่สามารถบูรณะได้ ก็ควรจะถอนออกก่อนที่จะเกิดการอักเสบบวมมากขึ้นค่ะ

 

เหงือกอักเสบ เป็นหนอง รักษาโรคเหงือกแล้วไม่หาย หมอจึงแนะนำให้ถอน

มีปัญหาเรื่องเหงือกบวม อักเสบและฟันหน้าห่างทั้งบนล่างและค่ะคุณหมอ ฟันหน้าเริ่มมีหนองออกมาตามร่องเหงือก ไปพบทันตแพทย์แนะนำให้ขูดหินปูนเกลารากฟันก็ทำแล้ว แต่ยังไม่หาย หมอเลยแนะนำต่อให้ถอนออกแล้วใส่ฟันปลอม แต่หนูไม่อยากใส่ฟันปลอมเพราะอายุพึ่งจะ 25 ปี จะรักษาอย่างไรได้บ้างคะ?

จากปัญหาที่คนไข้ถามมาแสดงว่า เป็นโรคปริทันต์จึงทำให้เหงือกบวมและเป็นหนอง ฟันโยกและเคลื่อนออกจากกันค่ะ

การที่รักษาโรคเหงือกแล้วยังไม่หาย อาจจะเป็นเพราะมีสาเหตุอื่นร่วมด้วย เช่น เนื่องจากฟันสบลึก คือ ฟันหน้าล่างสบติดบริเวณโคนฟันด้านเพดานของฟันหน้าบน ทำให้มีแรงกระแทกตลอดเวลา หรือมีฟันสบกระแทกในลักษณะอื่นๆ ซึ่งควรจะ x-ray และตรวจหาสาเหตุเพิ่มเติม

หากทันตแพทย์เฉพาะทางด้านโรคเหงือกได้ประเมินว่า ยังมีกระดูกหุ้มรากฟันเหลือแข็งแรงมากพอที่จะเก็บฟันไว้ได้ ก็ควรจะแก้ไขที่ต้นเหตุ เช่น ถ้าเป็นเพราะฟันสบลึก ก็ควรจะแก้ไขด้วยการจัดฟัน ซึ่งจะเป็นการทำงานดูแลควบคุมสุขภาพช่องปากร่วมกันโดยทันตแพทย์จัดฟันและทันตแพทย์โรคเหงือกค่ะ

 

จากการให้คำปรึกษาแบบสาธารณะ
ตอบโดย ทพญ.ขนิษฐา สุรางค์ศรีรัฐ
ทพ.ธนะศักดิ์ ธนสารสุขสถิตย์

บทความที่เกี่ยวข้อง

slogan_sktdental