เหงือกของเรามีหน้าที่ตามธรรมชาติในการหุ้มยึดคอฟันและรากฟันไว้ในกระดูกขากรรไกร เพื่อรองรับแรงบดเคี้ยว โดยปกติเหงือกจะหุ้มอยู่ตามแนวคอฟันเหนือรากฟัน แต่ในผู้ที่มีภาวะเหงือกร่น เหงือกจะถอยร่นลงไปอยู่ระดับต่ำ ทำให้ซี่ฟันดูยาวขึ้น และเหมือนเหงือกเป็นรูหรือร่องในตำแหน่งคอฟัน
- เหงือกร่น สามารถป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้นได้ไม่ยากด้วยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี ใช้แปรงสีฟันขนนุ่ม และเข้าพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูนอย่างน้อยปีละครั้ง
- ส่วนวิธีรักษาเหงือกร่น ทำได้โดยการ “ผ่าตัดเหงือก” หรือ “อุดปิดช่องว่างระหว่างฟัน” ซึ่งแต่ละวิธีก็มีข้อดี-ข้อเสีย และความเหมาะสมต่างกันไปในแต่ละกรณี
เหงือกร่น เกิดจากสาเหตุอะไร?
สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเหงือกร่นที่พบได้บ่อย 2 ข้อ ดังนี้
- การมีหินปูนสะสมอยู่มาก : จุลินทรีย์ในช่องปากนั้น นอกจากจะทำให้เกิดหินปูนขึ้นในบริเวณคอฟันส่วนที่อยู่เหนือเหงือกซึ่งเรามองเห็นได้แล้ว หากปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน ยังทำให้เกิดหินปูนลึกลงไปในส่วนใต้ขอบเหงือกที่เรามองไม่เห็นได้อีกด้วย โดยเชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้สามารถจะทำลายได้ทั้งเนื้อเยื่อของเหงือกและละลายกระดูกเบ้าฟัน ทำให้เหงือกร่นลึกลงไปเรื่อยๆ
- การแปรงฟันผิดวิธี : การแปรงฟันผิดวิธีและใช้ขนแปรงที่แข็งเกินไป ก็ทำให้เหงือกร่นและมีปัญหาเสียวฟันเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการแปรงฟันในลักษณะแบบถูไปมาขนานกับพื้นบริเวณคอฟันเหมือนเลื่อย ซึ่งการแปรงฟันผิดวิธีในลักษณะนี้ ในระยะยาวยังสามารถทำให้คอฟันสึก ซึ่งมักเกิดต่อเนื่องกันหลายซี่
ขูดหินปูนแล้วเหงือกร่นเป็นรูสามเหลี่ยม?
คือหนูไปขูดหินปูนแล้วฟันหน้าบนตรงกลางระหว่างซี่ มันมีร่องฟันที่เกิดจากการขูดหินปูน เวลายิ้มจะเห็นเป็นรูดำๆรูปสามเหลี่ยม ทำให้ไม่มั่นใจเลยค่ะ เหงือกร่นแบบนี้จะหายเองได้ไหม? ถ้าไม่หายมีวิธีรักษาหรือปิดร่องฟันที่มันเป็นรูได้บ้างไหมอ่ะคะ?
หลังขูดหินปูนเหงือกร่นและเกิดช่องห่างบริเวณคอฟัน โดยทั่วไปเกิดจากการที่คนไข้มีหินปูนสะสมอยู่เป็นจำนวนมากและระยะเวลานานค่ะ บางครั้งคนไข้มักเข้าใจว่าเหงือกเป็นรูจากการขูดหินปูนเพราะสังเกตเห็นชัดหลังการขูดหินปูน แต่ความจริงแล้วเป็นเพราะฐานของเหงือกได้ร่นลงไปเนื่องจากมีหินปูนสะสมอยู่เป็นเวลานานค่ะ
ฟันตามธรรมชาติจะมีสัดส่วนคอฟันเล็กกว่าส่วนปลายฟัน ดังนั้นในขณะที่ปลายฟันชิดกันส่วนคอฟันจะมีช่องเป็นรูปสามเหลี่ยม ซึ่งจะมียอดเหงือกเป็นลักษณะแหลมปิดอยู่ในซอกระหว่างคอฟันนี้
ในกรณีที่มีหินปูนสะสมอยู่เป็นเวลานานมักมีปัญหาเหงือกอักเสบเรื้อรังจนเหงือกร่น หลังจากขูดหินปูนแล้ว การอักเสบบวมจะหายไป ทำให้ขอบเหงือกกระชับกับคอฟัน ทำให้ยอดเหงือกที่ปกคลุมอยู่นั้นหดตัวลงไปจึงเห็นเป็นช่องระหว่างคอฟันได้ค่ะ
เหงือกร่นหายเองได้ไหม?
กรณีที่เพิ่งเริ่มเป็น ถ้าแปรงฟันให้สะอาดอย่างถูกวิธีสม่ำเสมอ เหงือกจะค่อยๆปรับตัวเข้ามาเติมเต็มในช่องว่างได้ แต่ถ้าเป็นกรณีเหงือกร่นมานาน ร่วมกับมีกระดูกรอบรากฟันละลายตัวลง เหงือกก็ไม่สามารถปรับตัวขึ้นมาเองได้
วิธีรักษาเหงือกร่น : ทำได้ด้วยการผ่าตัดปลูกเหงือกโดยทันตแพทย์ด้านทันตกรรมปริทันต์ค่ะ โดยใช้เหงือกบริเวณเพดานช่องปาก (ซึ่งจะฟื้นตัวขึ้นได้เองในเวลาไม่นาน) มาปลูกในตำแหน่งที่ต้องการ ผลการรักษาจะดีขึ้นได้พอสมควรในกรณีที่เหงือกร่นไม่มาก ส่วนในกรณีที่คนไข้มีเหงือกร่นมาก ก็จะช่วยได้ระดับหนึ่งแต่จะขึ้นมาจนเต็มเหมือนเดิมค่อนข้างยากค่ะ
การอุดฟันปิดช่องว่างตำแหน่งนี้ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่ง แต่หากทำได้ไม่สมบูรณ์จะมีเศษอาหารเกาะติดและเกิดฟันผุได้ง่ายค่ะ
ถ้าคนไข้ไม่รู้สึกว่าเป็นปัญหามากนัก หมอคิดว่าดูแลรักษาสุขภาพเหงือกและฟันให้ดี ขูดหินปูนเป็นระยะๆตามกำหนด เพื่อไม่ให้เหงือกมีการอักเสบและเหงือกไม่ร่นไปกว่านี้ก็น่าจะเพียงพอค่ะ
ฟันหน้าโยก เหงือกร่น และมีหินปูนมาก
รบกวนช่วยตอบหน่อยนะค่ะ ตอนนี้เหงือกหนูบวม เหงือกอักเสบแดง มีคราบหินปูน บริเวณฟัน เเล้วเหงือกก็ร่นลงไปลึกมาก มีอาการฟันโยก อยากทราบว่าพอจะรักษาให้หายได้เหมือนเดิมไหม คุณหมอมีที่ไหนแนะนำที่ราคาไม่แพงไหมคะ?
อาการตามที่เล่ามานั้น หมอคิดว่าน่าจะเป็นปัญหาจากเหงือกอักเสบเรื้อรัง เนื่องจากมีคราบหินปูนสะสมเป็นเวลานาน หากกระดูกรอบๆรากฟันไม่ถูกทำลายไปมาก/ฟันไม่โยกมาก ก็น่าจะรักษาให้แข็งแรงขึ้นได้โดยการขูดหินปูน และเกลารากฟัน ก็จะหายอักเสบ อาการฟันโยกน่าจะดีขึ้นได้ ซึ่งผลการรักษาก็จะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการก่อนการรักษาด้วย
ส่วนปัญหาเหงือกร่นมักจะไม่หาย แต่ถ้าเหงือกร่นแต่ไม่มีอาการเสียวฟัน หรือไม่เกี่ยวข้องกับความสวยงาม ก็มักจะแก้ไขเฉพาะให้เหงือกหายอักเสบ/บวม แต่หากเหงือกร่นจนมีปัญหาด้านความสวยงามที่จำเป็นต้องแก้ใข ก็สามารถทำผ่าตัดปลูกเหงือกได้
หรือหากมีอาการเสียวฟันและคอฟันสึกเป็นร่อง ก็ควรอุดคอฟัน แต่ถ้าเสียวฟันโดยไม่มีฟันสึกหรือสึกเพียงเล็กน้อย แนะนำให้ใช้น้ำยาอมฟลูออไรด์และยาสีฟันสูตรสำหรับช่วยเรื่องการเสียวฟันค่ะ
แนะนำควรจะรีบไปรักษาโดยเร็ว เพื่อไม่ให้ปัญหารุนแรงจนเกินกว่าจะรักษาได้ โดยสามารถไปที่แผนกทันตกรรมของรพ.รัฐบาลทุกแห่ง ศูนย์สาธารณสุข หรือ คณะทันตแพทย์ศาสตร์ในมหาวิทยาลัยทุกแห่ง สถานพยาบาลของรัฐมักจะไม่แพง แม้ว่าอาจต้องเข้าคิว แต่กรณีคนไข้มีปัญหาเร่งด่วนจะมีแผนกรักษาฉุกเฉินให้ เพื่อบรรเทาอาการเฉพาะหน้า ก่อนการรักษาให้เสร็จสมบูรณ์ต่อไปค่ะ
จากการให้คำปรึกษาแบบสาธารณะ
ตอบโดย ทพญ.ขนิษฐา สุรางค์ศรีรัฐ
ทพ.ธนะศักดิ์ ธนสารสุขสถิตย์