ฟันปลอมแบบถอดได้แต่ละชนิด ราคา ข้อดีข้อเสีย ต่างกันอย่างไร

ฟันปลอมแบบถอดได้ คือ ฟันปลอมที่มีฐานเป็นพลาสติกหรือโลหะ ส่วนซี่ฟันทำจากเรซินอะคริลิกสีเหมือนฟัน คงอยู่ในช่องปากโดยอาศัยฟันข้างเคียงช่วยเป็นหลักยึด ร่วมกับความแนบสนิทพอดีของฐานฟันปลอมกับอวัยวะในช่องปาก ฟันปลอมแบบถอดได้ ราคา ข้อดี-ข้อเสีย และความเหมาะสมในการใช้งานจะแตกต่างกันไปในแต่ละชนิด

ฟันปลอมถอดได้

ภาพแสดงฟันปลอมแบบถอดได้ชนิดต่างๆ

ฟันปลอมแบบถอดได้ทุกชนิด ในภาพรวมจะมีข้อดี คือ สามารถถอดออกล้างทำความสะอาดได้สะดวก มีความสวยงามใกล้เคียงฟันธรรมชาติ ไม่ต้องกรอฟันหลักยึดทั้งซี่เหมือนการทำสะพานฟันแบบติดแน่น

ส่วนในแง่ของประสิทธิภาพในการใช้งานบดเคี้ยวนั้น หากมีฟันข้างเคียงสำหรับใช้เป็นหลักยึดวางตะขอที่แข็งแรงก็จะช่วยให้ฟันปลอมใช้งานได้ดี แต่ในกรณีที่ฟันหลักยึดไม่แข็งแรง หรือใส่ฟันปลอมทั้งปาก อาจมีข้อจำกัดในการใช้งานบดเคี้ยวอยู่บ้าง

 

ฟันปลอมแบบถอดได้แต่ละชนิด

ฟันปลอมฐานโลหะ ฟันปลอมโครงโลหะ

ข้อดี มีความสวยงามและแข็งแรง ใช้งานสะดวกเพราะส่วนฐานโลหะหรือโครงโลหะจะเล็กและบางกว่าฐานพลาสติก ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างดี จะสามารถใช้งานไปได้อย่างยาวนาน

ข้อเสีย ในบางตำแหน่งอาจมองเห็นตะขอโลหะได้บ้าง และควรระวังอย่าทานอาหารร้อนจัด

ฟันปลอมโครงโลหะ
ฟันปลอมฐานโลหะ

 

ฟันปลอมแบบถอดได้ฐานพลาสติก

ข้อดี มีความสวยงาม ราคาไม่แพง

ข้อเสีย อาจแตกหักได้ง่าย มีความหนาของฐานพลาสติกทำให้อาจเกิดความไม่ถนัดในขณะพูดหรือบดเคี้ยวอาหาร ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะค่อยๆลดน้อยลงเมื่อมีความคุ้นชินกับการใส่ฟันปลอม ในกรณีทำฟันปลอมฟันหน้าไม่ควรใช้กัดอาหาร

ฟันปลอมแบบถอดได้ 1 ซี่ฟันปลอมแบบถอดได้ ฟันหน้า

     

ฟันปลอมถอดได้แบบนิ่ม (valplast, ฐานพลาสติกยืดหยุ่น)

ข้อดี มีความสวยงาม กระชับ และไม่แตกหัก

ข้อเสีย เหมาะสำหรับทำในกรณีสูญเสียฟัน 1-2 ซี่เท่านั้น ไม่เหมาะในกรณีใส่ฟันทั้งด้านซ้าย-ขวา หรือใส่ฟันหลายๆซี่ เนื่องจากฟันปลอมแบบนิ่มจะรับแรงในการบดเคี้ยวได้ไม่มากนัก หากเป็นตำแหน่งรับแรงบดเคี้ยวมากควรเลือกแบบฐานโลหะจะเหมาะสมกว่า

หากดูแลรักษาไม่เหมาะสมจะทำให้ฐานพลาสติกเสียความนิ่มยืดหยุ่น หรือเปลี่ยนสีไปได้เมื่อใช้ไปประมาณ 3 ปี หลังจากใช้งานไปเป็นระยะเวลาประมาณ 5 ปีขึ้นไป ความกระชับของฟันปลอมอาจลดลงเล็กน้อย

ฟันปลอมแบบนิ่ม 1 ซี่

 

ฟันปลอมแบบ removable bridge (RB)

เป็นการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้บริเวณฟันกราม หรือฟันกรามน้อย เพียงซี่เดียวเฉพาะตำแหน่งที่ต้องการใส่ฟัน

ข้อดี ใช้งานได้ดี ไม่มีค่อยปัญหาเรื่องการปรับตัวในการใช้งาน

ข้อเสีย ในบางตำแหน่งอาจมองเห็นตะขอได้บ้าง เหมาะที่จะทำเฉพาะตำแหน่งที่ตะขอสามารถยึดกับฟันข้างเคียงได้แน่นเพียงพอ เพื่อไม่ให้เสี่ยงกับการหลุดและกลืนลงไปพร้อมอาหาร และห้ามใส่ฟันปลอมเวลานอน

ฟันปลอม ฟันกราม

 

ฟันปลอมแบบถอดได้ ราคา

 

ฟันปลอมถอดได้แบบพลาสติก ซี่เดียวราคา 3,500 ซี่ต่อไปเพิ่ม 500
ฟันปลอมแบบนิ่ม valplast ซี่เดียวราคา 5,000 ซี่ต่อไปเพิ่ม 500
ฟันปลอมแบบ RB ซี่เดียวราคา 5,000 ซี่ต่อไปเพิ่ม 500
ฟันปลอมฐาน/โครงโลหะ ฐานโลหะราคา 9,500 ฟันปลอมซี่ละ 500
ฟันปลอมทั้งปาก บน/ล่าง 24,000-30,000
ฟันปลอมทั้งปากเฉพาะบนหรือล่าง 15,000-18,000

 

ถอนฟันแล้วไม่ใส่ฟันปลอมได้ไหม?

ฟันปลอม ทั้งแบบถอดได้และติดแน่น ช่วยแก้ปัญหาที่เกิดจากการสูญเสียฟันในหลายประการ ทั้งด้านประสิทธิภาพของการบดเคี้ยวอาหาร ด้านบุคลิกภาพ รวมไปถึงช่วยกันช่องว่างที่เกิดจากการสูญเสียฟัน ไม่ให้ฟันข้างเคียงล้มเอียง เคลื่อนห่างจากกัน และไม่ยื่นยาวออกมาในกรณีที่ไม่มีฟันคู่สบ เมื่อสูญเสียฟันโดยปกติทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ใส่ฟันปลอมทดแทนเพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้

 

ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ใส่ฟันปลอมแบบถอดได้

  • ในช่วงแรกของการใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ ถ้ามีอาการเจ็บเหงือก เสียวฟันข้างเคียง เคี้ยวอาหารแล้วหลวมหรือกระดก ควรให้ทันตแพทย์แก้ไขให้เรียบร้อย ไม่ควรปล่อยปละละเลย หรือเลิกใส่ฟันปลอม ซึ่งอาจจะทำให้มีปัญหาอื่นตามมาอีกได้
  • ควรถอดฟันปลอมออกมาทำความสะอาดทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
  • แปรงฟันปลอม อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง โดยใช้แปรงสีฟันขนนิ่มร่วมกับน้ำสบู่ แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด  เพื่อขจัดคราบอาหารและคราบหินปูนบนฟันปลอม
  • ไม่ควรใส่ฟันปลอมเวลานอน ให้แช่ฟันปลอมในน้ำสะอาด หรือน้ำยาทำความสะอาดฟันปลอม
  • ฟันปลอมถอดได้แบบพลาสติก ควรระวังเรื่องการตกแตกหัก ส่วนฟันปลอมถอดได้แบบโครงโลหะ ถ้าตกจะทำให้ตะขอบิดเบี้ยวได้
  • ไม่ควรเคี้ยวอาหารแข็งหรือเหนียวเกินไป
  • ควรตรวจสุขภาพช่องปากและตรวจเช็คฟันปลอมเป็นประจำทุก 6 เดือน

 

ใส่ฟันปลอมแล้วรู้สึกว่าพูดไม่ชัด

เมื่อใส่ฟันปลอมแบบถอดได้ใหม่ๆจะพูดไม่ชัดแน่นอน เพราะลิ้นและอวัยวะอื่นๆยังไม่เคยชินกับการใช้ฟันปลอมนั้น ด้วยความหนาของฐานฟันปลอม จะทำให้ผู้ใส่ฟันปลอมต้องปรับตัวในการออกเสียงบ้างเล็กน้อย

โดยทั่วไปผู้ที่อายุน้อยจะใช้เวลาปรับตัวเพียง 2-3 วันก็จะพูดชัด แต่ถ้าเป็นผู้ใหญ่อายุ 40 ปีขึ้นไป มักใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ หรืออาจเป็นเดือน แนะนำให้ฝึกพูด หรืออ่านออกเสียบ่อยๆจะปรับตัวได้เร็วขึ้น

 

 

ตรวจสอบบทความโดย
ทพญ. ธิดารัตน์ ตั้งเสงี่ยมวิสัย

บทความที่เกี่ยวข้อง

slogan_sktdental