รีเทนเนอร์ใส กับ รีเทนเนอร์แบบลวด | ราคา ข้อดี-ข้อเสีย

รีเทนเนอร์ใส คือ เครื่องมือคงสภาพฟันภายหลังจัดฟัน ซึ่งทำจากพลาสติกชนิดใสกลมกลืนไปกับการเรียงตัวของซี่ฟัน ทั้งยังมีความแข็งแรงและยืดหยุ่นพอที่จะรักษาสภาพฟันให้คงที่ มีการสบฟันที่ดีและเรียงตัวสวยงามได้ ภายหลังจากถอดเครื่องมือจัดฟันแล้ว

รีเทนเนอร์แบบใส กับ รีเทนเนอร์แบบลวด

คนไข้ที่จัดฟันโดยใช้เครื่องมือจัดฟันแบบติดแน่น สามารถเลือกใช้ รีเทนเนอร์แบบใส (ที่ออกแบบโดยแลปในประเทศ) หรือ รีเทนเนอร์แบบลวด ก็ได้ โดยทั่วไปมักมีราคาเท่ากัน แต่รีเทนเนอร์แบบใสจะมีอายุใช้งานสั้นกว่า

 

รีเทนเนอร์ใส ราคา

รีเทนเนอร์แบบลวด ราคาชิ้นละ 2,500 บาท

รีเทนเนอร์ใส ราคาชิ้นละ 2,500 บาท

รีเทนเนอร์แบบติดแน่น ค่าใช้จ่ายแล้วแต่กรณี

รีเทนเนอร์ชนิดเฝือกสบฟัน ราคาชิ้นละ 3,000-5,000 บาท

 

รีเทนเนอร์มีกี่แบบ แบบไหนดี

การคงสภาพฟันภายหลังการจัดฟัน สามารถออกแบบรีเทนเนอร์ได้หลายรูปแบบ โดยพิจารณาจากปัญหาก่อนเริ่มจัดฟัน และความต้องการควบคุมตำแหน่งฟันและการสบฟันให้คงที่ โดยสามารถแบ่งได้ 4 รูปแบบ ดังต่อไปนี้

 

1) รีเทนเนอร์ใส

คือ เครื่องมือคงสภาพฟันชนิดหนึ่งที่ทำจากแผ่นพลาสติกใสที่มีความหนาไม่มาก (ประมาณ 0.5-0.75 มม.) โดยจะครอบคลุมฟันทุกซี่/ทุกด้านในแต่ละขากรรไกร

รีเทนเนอร์ใส

ข้อดี

  • ควบคุมตำแหน่งฟันได้ทุกมิติ เพราะครอบคลุมซี่ฟันทุกด้าน จึงเหมาะในการควบคุมฟันในแนวดิ่ง เช่น คนไข้ที่ก่อนจัดฟันมีปัญหาฟันสบลึก
  • ทำจากวัสดุโปร่งใสที่มองแล้วกลมกลืนไปกับฟันธรรมชาติ ทำให้มองไม่เห็นว่ามีการใส่เครื่องมือในช่องปาก
  • ถอดล้างทำความสะอาดง่าย แปรงฟันสะดวก
  • สามารถใช้แก้ไขตำแหน่งฟันได้เล็กน้อย
  • บางกว่ารีเทนเนอร์แบบลวด จึงใส่สบายกว่า สามารถพูดได้ชัดตั้งแต่แรก

ข้อเสีย

  • ต้องอาศัยความร่วมมือของคนไข้ในการใช้งาน
  • ความทนทานและอายุการใช้งานสั้นกว่าแบบลวด
  • หากแผ่นพลาสติกมีความหนามากเกินไป อาจทำให้เกิดปัญหาฟันหน้าสบเปิดได้
  • ใช้ไปนานๆมักจะฉีกขาดบนด้านบดเคี้ยว เนื่องจากการสึกกร่อนจากแรงกัด
  • หากถูกกดทับแรงๆอาจแตกได้

 

2) รีเทนเนอร์แบบลวด

เป็นเครื่องมือคงสภาพฟันแบบถอดได้ ซึ่งมีเส้นลวดจัดฟันโอบควบคุมตำแหน่งฟันให้คงที่ อาจจะมีลวดสปริงสำหรับ ปรับ/แก้ไข ตำแหน่งฟันเพิ่มเติมได้เล็กน้อย

รีเทนเนอร์แบบลวด

ข้อดี

  • ทันตแพทย์สามารถออกแบบได้หลากหลายตามความต้องการควบคุมตำแหน่งฟัน รวมถึงหากต้องการแก้ไขเล็กๆน้อยๆก็สามารถเพิ่มสปริงบนรีเทนเนอร์ได้
  • ถอดล้างทำความสะอาดง่าย แปรงฟันสะดวก
  • อายุการใช้งานนาน
  • เลือกสีสันลวดลายได้
  • กรณีคนไข้ที่ต้องใส่ฟันปลอมหลังจากจัดฟันเสร็จ สามารถใส่ซี่ฟันปลอมชั่วคราวบนรีเทนเนอร์ได้ จนกว่าจะทำฟันปลอมถาวรเสร็จ จึงตัดซี่ฟันปลอมออกโดยอาจไม่ต้องทำรีเทนเนอร์ใหม่

ข้อเสีย

  • ต้องอาศัยความร่วมมือของคนไข้ในการใช้งาน
  • อาจทำให้พูดไม่ชัดในช่วงแรกๆ แต่สามารถปรับตัวและฝึกได้ในเวลาสั้นๆ
  • มีโอกาสแตกหัก และบิดเบี้ยวได้
  • บางครั้งอาจมีการกดหรือระคายเคืองเนื้อเยื่อในช่องปากบ้าง แต่ทันตแพทย์สามารถจะปรับแก้ได้ไม่ยาก

 

3) รีเทนเนอร์แบบติดแน่น

มักจะทำในฟันล่างโดยใช้ลวดดัดโค้งไปตามแนวด้านหลังของฟันหน้าด้านล่าง แล้วใช้วัสดุยึดลวดติดกับฟันแต่ละซี่

ข้อดี เหมาะกับกรณีที่จัดฟันปิดช่องห่างเนื่องจากขนาดฟันเล็กไม่สมดุลกับขนาดของฐานขากรรไกร

ข้อเสีย การแปรงฟันทำความสะอาดยาก

 

4) รีเทนเนอร์ชนิดเฝือกสบฟัน

บางครั้งพบว่าคนไข้จัดฟันโดยเฉพาะผู้ใหญ่มีปัญหาฟันสึก หรืออาจเคยมีปัญหาเกี่ยวกับข้อต่อขากรรไกร การใช้เฝือกสบฟันเป็นรีเทนเนอร์ก็จะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าว พร้อมกับคงสภาพฟันไปด้วยในตัว

บทความที่เกี่ยวข้อง

slogan_sktdental